ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 7, 2009 15:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT

และการเตรียมการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 4

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15และการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ครั้งที่ 5 ของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ดังนี้

1. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT

1.1 ผู้เข้าประชุม หัวหน้าคณะผู้แทนมาเลเซีย ได้แก่ ดาโต๊ะ ดร.อาลี ฮัมซา รองอธิบดีสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้แก่ นายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. และหัวหน้าคณะผู้แทนอินโดนีเซียและประธานที่ประชุม ได้แก่ ดร.ฟีร์แมน เอ็ม ยู ตัมบน เจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการประสานกิจการภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงประสานกิจการด้านเศรษฐกิจ

1.2 ผลการประชุม

1.2.1 รับทราบการดำเนินงานตามแผนที่นำทาง IMT-GT ปี 2550-2554 ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ปีที่สอง และเห็นชอบให้มีการติดตามดูแลการดำเนินแผนงานและโครงการภายใต้ IMT-GT โดยพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพูนและเร่งรัดความร่วมมือทางด้านกฎระเบียบและกรอบความตกลงต่างๆ ในเขตพื้นที่ IMT-GT เพื่อให้ความร่วมมือ IMT-GT เป็นฐานที่สำคัญในการบูรณาการการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

1.2.2 เห็นชอบให้มีการจัดตั้งเว็บไซด์ IMT-GT ให้แล้วเสร็จทันต่อการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 4 เพื่อเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความร่วมมือใน IMT-GT

1.2.3 เห็นชอบให้มีการบูรณาการแผนงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานของทุกคณะทำงานภายใต้แผนงาน IMT-GT

1.2.4 รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำร่างความตกลงการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) ที่ประเทศมาเลเซีย และเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงฯ โดยรัฐมนตรีของทั้งสามประเทศในระหว่างการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 4 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ประเทศไทย โดยทั้งสามประเทศต้องดำเนินการกระบวนการภายในประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงฯ ดังกล่าว

1.2.5 รับทราบผลการประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT และมอบหมายให้คณะทำงานภายใต้กรอบ IMT-GT 6 สาขาพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ ที่สำคัญได้แก่ การอำนวยความสะดวกการจัดทำ IMT-GT Business Opportunity Directory การเร่งรัดการจัดตั้ง IMT-GT Plaza ในพื้นที่ความร่วมมือ IMT-GT ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย (ไทยได้ดำเนินการแล้วที่จังหวัดตรัง และอยู่ระหว่างดำเนินการที่พัทลุง และสงขลา) การอำนวยความสะดวกการจัดตั้งศูนย์บริการการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop service) ในทุกจังหวัดของพื้นที่ IMT-GT การประสานความร่วมมือในการจัดตั้งเขตและศูนย์กลางการพัฒนาฮาลาลของพื้นที่ IMT-GT และการดำเนินการเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่ IMT-GT

1.2.6 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะทำงาน 6 สาขาความร่วมมือตามกรอบ IMT-GT ได้แก่

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ได้แก่ การขยายและเชื่อมโยงเส้นทางบินในพื้นที่ IMT-GT เช่น สายการบิน Firefly การพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งทางทะเลระหว่างสามประเทศ อาทิ การพัฒนาท่าเรือดูไม ท่าเรืออาเจห์ และท่าเรือกันตัง การเพิ่มโครงการก่อสร้างสะพานของไทยที่จังหวัดนราธิวาสเพื่อเชื่อมต่อกับมาเลเซีย จำนวน 3 โครงการ ไว้ภายใต้ IMT-GT Roadmap ปี 2550-2554 ได้แก่ 1. สะพานบูเก๊ะตา-บูกิตบุหงา ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2. โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่สอง ที่ด่านสุไหงโกลก-รันเตาปันยัง และ 3. สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งใหม่อำเภอตากใบ-เมืองเปิงกาลันกุโบร์ (รัฐกลันตัน) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับประเทศอินโดนีเซีย และการให้ความสำคัญต่อประเด็นความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่ง

2) ด้านการค้าและการลงทุน เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน การศึกษาการจัดตั้งศูนย์บริการการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัดของพื้นที่ IMT-GT และการเร่งรัดฝ่ายมาเลเซียในการร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบริเวณอำเภอสะเดา-เมืองบูกิตกา ยูฮิตัม มาเลเซีย ซึ่งฝ่ายไทยโดย สศช. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาระยะที่ 2

3) ด้านการท่องเที่ยว การดำเนินกิจกรรมต่างภายใต้ Visit IMT-GT Year 2008 อาทิ International Travel Fair, IMT-GT Travel Mart และ IMT-GT Post Trip การสนับสนุน Medical Tourism การเชื่อมโยงเครือข่ายโฮมสเตย์ และการพัฒนาแพ็กเก็จท่องเที่ยวร่วมกันสามประเทศ

4) ด้านผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล การฝึกอบรมผู้ประกอยการ ฮาลาลสนับสนุนการจัดทำ IMT-GT Halal Brand เพื่อส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งในและนอกเขตพื้นที่ IMT-GT การจัด IMT-GT Halal EXPO และงานเทศกาลฮาลาลเมาลิดนาบีที่จังหวัดกระบี่ โครงการ Integrated Halal ICT Superhighway และการจัดฝึกอบรมหลักสูตรห้องปฏิบัติการสหเวชศาสตร์ฮาลาล (Halal Forensic Laboratory Training) ที่ดำเนินการโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เร่งรัดการปรับกฎระเบียบอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงาน การรับรองร่วมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน โครงการแลกเปลี่ยนดูงานและฝึกอบรมของบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัย การรวมแผนงานของเครือข่าย IMT-GT UNINET เข้าในเว็บไซต์ IMT-GT การจัดฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยและความปลอดภัยและสุขภาพการทำงาน และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะภายใต้ความร่วมมือ IMT-GT ระหว่างวันที่ 3-7 พฤศจิกายน 2551 ที่จังหวัดสงขลา

6) ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศด้านการประมง ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ความร่วมมือด้านการปลูกและการวิจัยและพัฒนาปาล์มน้ำมัน การใช้เทคโนโลยีที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการเกษตร และการจัดงาน IMT-GT Fisheries Expo ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดภูเก็ต เดือนพฤศจิกายน 2551

1.2.7 รับทราบความก้าวหน้าการร่วมมือกับพันธมิตรการพัฒนา ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อแปลง IMT-GT Roadmap ปี 2550-2554 สู่การปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-อาเจห์ แนวเมดาน-ปีนัง และแนวดูไม-มะละกา ผ่านโครงการศึกษาต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ใน IMT-GT และโครงการ IMT-GT Maritime Trade การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนา NCER ของมาเลเซียและแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ของไทยและโครงการปรับปรุงด้านฐานข้อมูลการค้าการลงทุนและท่องเที่ยว ตลอดจนแผนการสนับสนุนการพัฒนาภาคเอกชนโดยทำการศึกษาวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่าและการเพิ่มขีดความสามารถของ SME ในการเข้าถึงแหล่งทุน

1.2.8 รับทราบความก้าวหน้าการเตรียมการจัดประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 4 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ที่ประเทศไทย (โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะเป็นประธานการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT) ต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 โดยมอบหมายให้ CIMT ดำเนินการยกร่างคำแถลงการณ์ร่วมและดำเนินการหารือร่วมกับทั้ง 3 ประเทศ และ สศช. จัดประชุมฝ่ายเลขานุการระดับชาติ สามประเทศก่อนหน้าการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT เพื่อร่วมจัดทำร่างสุดท้ายของคำแถลงการณ์ร่วม

2. การประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ครั้งที่ 4 แผนงาน IMT-GT

2.1 ผู้เข้าประชุม หัวหน้าคณะผู้แทนอินโดนีเซีย ได้แก่ นายเอโก เมาลานา ผู้ว่าราชการจังหวัดบังกาเบลิตุง หัวหน้าคณะผู้แทนมาเลเซีย ได้แก่ ดาโต๊ะ ไซนัล Deputy State Secretary of Melaka และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้แก่ นายวิทยา พานิชพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

2.2 ผลการประชุม ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15 และเห็นชอบและสนับสนุนตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ IMT-GT พร้อมทั้งจะเร่งแก้ไขปัญหาระดับท้องถิ่นและส่งเสริมกิจกรรมข้ามแดน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกต่อธุรกิจระดับท้องถิ่นและการสนับสนุนโครงการที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าตามแนวชายฝั่งและการค้าเชื่อมโยงทางทะเล การกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจในบริเวณพื้นที่บูเก๊ะตา-บูกิตบุหงาเพื่อให้สะพานเชื่อมระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ การสนับสนุนการจัดตั้ง IMT-GT Plaza การสนับสนุนให้สนามบินหาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการบินของไทยในระดับ อนุภูมิภาค การจัดทำ IMT-GT Business Opportunity Directory การจัดกิจกรรมคณะผู้แทนการค้าและการจัดงาน Trade Fairs และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บริการการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัดในพื้นที่แผนงาน IMT-GT

3. การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT

3.1 ผู้เข้าประชุม หัวหน้าคณะผู้แทนอินโดนีเซียและประธานที่ประชุม ได้แก่ H.E. Ir. H.M. LUKMAN EDY MSi.State Minister for the Development of Disadvantaged Areas หัวหน้าคณะผู้แทนของมาเลเซีย (ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีมาเลเซีย) ได้แก่ ดาโต๊ะ ดร.อาลี ฮัมซา รองอธิบดีสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ สำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้แก่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

3.2 ผลการประชุม

3.2.1 เห็นชอบผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15 พร้อมทั้งได้มอบหมายแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม ได้แก่ (1)การเร่งรัดความเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจทั้ง 5 แนวภายใต้ IMT-GT Roadmap โดยเฉพาะการพัฒนาตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ระนอง-ภูเก็ต-อาเจห์ ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 3 (2) การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการคมนาคมขนส่งผ่านแดนและข้ามแดนในพื้นที่ IMT-GT (3) ความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อภาวะความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและปรากฏการณ์โลกร้อน (4) การแสวงหาทรัพยากรท้องถิ่นในการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองต่อภาวะอาหารและเชื้อเพลิงราคาแพงและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (5) การจัดทำแพ็กเก็จท่องเที่ยวและการทำการตลาดร่วมกันสามประเทศ (6) การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างสามประเทศ IMT-GT แบบ Seaplace traveling เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและความสวยงามตามแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินทางทางบก (7) การส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านเคลื่อนย้ายแรงงาน และการจัดทำความตกลง MRA ระหว่างกัน

3.2.2 เห็นชอบผลการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ครั้งที่ 5 พร้อมทั้งเน้นย้ำความสำคัญขององค์กรบริหารระดับจังหวัดและรัฐและระดับท้องถิ่นในการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการและธุรกิจในท้องถิ่น

3.2.3 มอบหมายให้ CIMT ร่วมกับฝ่ายเลขานุการระดับชาติสามประเทศ จัดประชุมภายในเดือนพฤศจิกายน 2551 เพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 4 และจัดทำร่างคำแถลงการณ์ร่วมของผู้นำให้แล้วเสร็จ

3.2.4 รับทราบการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียในการยกระดับศักยภาพองค์กรและการประสานงานใน IMT-GT การระบุแผนงานโครงการที่สำคัญตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจของ IMT-GT ทั้ง 5 แนว และเห็นชอบโครงการศึกษาต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ใน IMT-GT โครงการ IMT-GT Maritime Trade และโครงการปรับปรุงด้านฐานข้อมูลการค้าการลงทุนและท่องเที่ยว

2. เห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ทบทวนความก้าวหน้าความร่วมมือและแนวโน้มการพัฒนาในอนุภูมิภาค IMT-GT การเตรียมรับกับปัญหาที่กำลังขยายตัวข้ามแดนระหว่างประเทศ อาทิ วิกฤตการณ์ทางการเงิน การถดถอยทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร ความผันผวนของราคาพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2. ประสานความร่วมมือระหว่าง IMT-GT และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนเกื้อกูลในส่วนที่ IMT-GT สามารถดำเนินการได้เพื่อประโยชน์ต่อความร่วมมือในภาพกว้างในอาเซียน และเพื่อให้ IMT-GT ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือในอาเซียน

3. เน้นวิสัยทัศน์ของ IMT-GT ที่มุ่งสู่การเป็นอนุภูมิภาคไร้พรมแดน มั่งคั่ง และสันติสุข ในโอกาสที่ความร่วมมือ IMT-GT มีวาระครบรอบ 15 ปี

4. ประกาศปี 2552 เป็นปีแห่งการฉลอง IMT-GT (IMT-GT Celebration Year 2009) ต่อเนื่องจาก Visit IMT-GT 2008 โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

5. ทบทวนกลางรอบแผน IMT-GT Roadmap ปี 2550-2554 โดยมุ่งเน้นความเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนของทุกฝ่ายในกระบวนการทบทวนแผนตลอดจนผลลัพธ์ที่ได้และขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ทำงานใกล้ชิดกับศูนย์ประสานความร่วมมืออนุภูมิภาค (CIMT) เจ้าหน้าที่อาวุโส ทุกคณะทำงาน และภาคเอกชน ในการสนับสนุนความช่วยเหลือที่จำเป็น

6. เน้นความสำคัญของการพัฒนาแนวพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของ IMT-GT ทั้ง 5 แนว พร้อมเร่งรัดทุกฝ่ายร่วมมือกันในการแก้ไขอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาแนวพื้นที่ การกำหนดแผนงานโครงการภายใต้แนวพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของ IMT-GT โดยมอบหมายหน่วยงานวางแผนของประเทศ IMT-GT ให้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจของ IMT-GT กับแผนพัฒนาภูมิภาคที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศ

7. ขอให้ ADB ให้ความช่วยเหลือเพื่อศึกษา จัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการที่สนับสนุนต่อการพัฒนาแนวพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ IMT-GT เน้นความจำเป็นในการพัฒนา software ที่สนับสนุนต่อแนวพื้นที่เศรษฐกิจ การเร่งรัดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และความร่วมมือด้าน CIQ

8. เร่งรัดการสร้างความเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือและการค้าข้ามช่องแคบมะละกาและสนับสนุนข้อริเริ่มของสภาธุรกิจ 3 ฝ่าย IMT-GT ในการส่งเสริมการค้าทางเรือในพื้นที่ IMT-GT ซึ่งมีการพัฒนาท่าเรือสำคัญ 13 แห่ง เป็นเครือข่ายการค้าแนวชายฝั่ง มอบหมายหน่วยงานภาครัฐให้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการกำหนดนโยบายผลักดันกิจกรรมการค้าตามแนวชายฝั่ง การพัฒนากฎระเบียบที่มีมาตรฐาน และสนับสนุนการให้บริการต่างๆ อาทิ เงินทุน และประกันภัย

9. กำหนดตัวชี้วัดเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามและประเมินผลกระทบและผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจอันเกิดจากความร่วมมือ IMT-GT และมอบหมายให้ CIMT เร่งรัดจัดทำกรอบประเมินแบบบูรณาการและ เร่งจัดทำฐานข้อมูลการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวใน IMT-GT โดยหน่วยงานภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

10.ให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คณะทำงาน 6 คณะภายใต้ IMT-GT ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินแผนงานโครงการต่างๆ และให้มีการแสวงหาแนวทางที่สมดุลในการดำเนินนโยบายอาหารเพื่อพลังงาน

11.สนับสนุนบทบาทที่สำคัญของสภาธุรกิจร่วม 3 ฝ่าย IMT-GT ในการขยายการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวใน IMT-GT ตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนในเวทีเศรษฐกิจโลก การให้ความสำคัญต่อการเป็นหุ้นส่วนของภาคเอกชนผ่านทางนโยบายระดับมหภาคและระดับสาขาที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คล่องตัว และมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

12.เน้นย้ำบทบาทของการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรีในการเสริมสร้างความร่วมมือระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น ส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรีมีความพยายามมากขึ้นในการสร้างเสริมกลไกภาคเอกชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับรัฐ และการสนับสนุนสภาธุรกิจร่วมสามฝ่าย IMT-GT ในการจัดทำ IMT-GT Business Opportunity Directore เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมโอกาสการทำธุรกิจระหว่างรัฐและจังหวัด

13.สนับสนุนการขยายความสัมพันธ์มากขึ้นกัน ADB ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาและผู้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการใน IMT-GT อาทิ การพัฒนาแนวพื้นที่เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน การเพิ่มขีดความสามารถและการสร้างผลผลิตเชิงความรู้ และเน้นให้ ADB เชื่อมความสัมพันธ์กับภาคเอกชนมากขึ้นโดยเพิ่มการสนับสนุนการลงทุนโครงการต่างๆ ของ IMT-GT ที่รวมถึงโครงการภาคเอกชน และมอบหมายเจ้าหน้าที่อาวุโสให้ริเริ่มและหาแนวทางความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศที่ 3 ตลอดจนองค์กรการพัฒนาต่าง ๆ

3. เห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้เข้าประชุม IMT-GT Summit ครั้งที่ 4 ดังนี้

องค์ประกอบคณะผู้เข้าร่วมประชุมตามระบบ 1 (ผู้นำ) +7+1 (ผู้แทนภาคเอกชน) สำหรับประเทศไทย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยคณะผู้เข้าประชุม ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สศช. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ สศช. ปลัดกระทรวงต่างประเทศ รองเลขาธิการ สศช. และประธานสภาธุรกิจภาคใต้ IMT-GT

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ