ร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 10:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงกลาโหมเสนอว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงว่า หากเรื่องใดเป็นนโยบายของรัฐบาลสำนักงานฯ จะดำเนินการต่อไป ประกอบกับการตราพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อยุทธศาสตร์ของชาติในการดำรงไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตย โดยประเทศมหาอำนาจที่มีศักยภาพป้องกันประเทศเข้มแข็งทั้งหลายล้วนมีกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับประเทศ ซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายสนับสนุนด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อป้องกันประเทศ สามารถผลิตขาย หรือจำหน่ายให้กับหน่วยราชการและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ประกอบกับพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้มแข็งในกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมิได้ขัดแย้งกับนโยบายพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงยืนยันขอให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร พ.ศ. .... ต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร” “คณะกรรมการ” “กรรมการ” เป็นต้น(ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 4 ร่างมาตรา 5 ร่างมาตรา 8 และร่างมาตรา 9)

3. ให้กระทรวงกลาโหมและสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงกลาโหมมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร การร่วมทุน ร่วมการงาน การจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ฯลฯ ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 13)

4. ให้มีการจัดตั้งกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหารตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ