แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 (รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2009 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 (รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของคณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 ไปดำเนินการต่อไป

2. มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ตามขั้นตอนต่อไป

3. มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 ไปประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีต่อไป

4. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณรับไปพิจารณาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับแผนงาน/โครงการ ตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณและรักษาวินัยการคลัง

5. มอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ เป็นผู้พิจารณาความจำเป็นในการปรับปรุงแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นไปได้ของการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และมอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกับส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ สำหรับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ของกระทรวงการคลัง

6. เห็นชอบหลักการกรณีคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนงาน/โครงการเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ปรับปรุงแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 (รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี)

1. องค์ประกอบของแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ มีสาระสำคัญประกอบด้วย 4 ส่วน คือ

1.1 แนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศ เป็นการสรุปวิสัยทัศน์ สถานการณ์ของประเทศ และกรอบการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล

1.2 แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายรัฐบาล 8 นโยบาย เป็นการแสดงเป้าหมายเชิงนโยบาย ตัวชี้วัด และกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล

1.3 กลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่การปฏิบัติ ระบุหน่วยงานรับผิดชอบ งบประมาณสนับสนุนตามนโยบาย และแนวทางการติดตามประเมินผล

1.4 แผนงาน/โครงการที่มีลำดับความสำคัญตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งคัดเลือกจากแผนงาน/ โครงการรายนโยบาย 8 นโยบาย

2. ประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบายรัฐบาล

2.1 ประมาณการความต้องการใช้เงินตามนโยบายรัฐบาล ช่วงปี 2552-2554 มีกรอบความต้องการใช้วงเงินรวม 7,442,000 ล้านบาท และประมาณการวงเงินรายได้สุทธิของรัฐบาลเท่ากับ 5,240,000 ล้านบาท ทั้งนี้ประมาณการความต้องการใช้เงินที่ปรากฏในแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ จะใช้กรอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติราชการสี่ปีและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการ เพื่อประกอบการจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป โดยแผนงาน/โครงการที่ระบุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ฉบับนี้ นั้น ส่วนราชการเจ้าของแผนงาน/โครงการจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.2 อย่างไรก็ตาม ประมาณการความต้องการใช้เงินในช่วงปี 2552-2554 ดังกล่าว อาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงควรพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการในรายละเอียด และพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับแผนงาน/โครงการ ตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการคลัง

3. การติดตามประเมินผล แผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้กำหนดให้มีกลไกการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการ ดังนี้

3.1 มอบหมายให้ สศช.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักประสานกับส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

3.2 เห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำแผนฯ เป็นผู้พิจารณาความจำเป็นในการปรับปรุงแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และความเป็นไปได้ของการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

3.3 สำหรับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ของกระทรวงการคลัง

ความเห็นเพิ่มเติมของคณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552-2554 ดังนี้

1. เห็นควรปรับเพิ่มกรอบความต้องการใช้เงินสำหรับการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยให้กระทรวงที่รับผิดชอบจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป และให้ปรับปรุงแผนการบริหารราชการแผ่นดินฯ ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

2. เห็นควรให้จัดทำรายละเอียดของแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยกำหนดกรอบวงเงินเบื้องต้น สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 50,000 ล้านบาท และสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 60,000 ล้านบาท และมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบโดยประสานกับคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นเลขานุการ ในการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551

3. เห็นควรให้สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดความต้องการใช้เงินในปีงบประมาณ 2553 ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและวินัยการคลังตามขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ