ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. .....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2009 14:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ..... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

เรื่องเดิม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ..... มาเพื่อดำเนินการ โดยมีเหตุผลว่า ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 เป็นระเบียบที่วางแนวทางปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล เอกสาร และสถานที่ ได้ใช้บังคับมานานแล้ว ซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน ประกอบกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 เป็นระเบียบปฏิบัติในการรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยมิให้รั่วไหล จึงเป็นระเบียบที่ใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารที่จัดทำขึ้นในรูปเอกสารเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ ดังนั้น จึงสมควรปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 โดยตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับเอกสารออก เพื่อมิให้ซ้ำซ้อนกับระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544

คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มกราคม 2551) เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ..... ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. ..... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 (ร่างข้อ 3)

2. กำหนดให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยได้แก่ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายตำรวจ โดยให้มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามที่กำหนด (ร่างข้อ 7)

3. กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยงานของตน และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ และในกรณีที่เห็นเป็นการสมควรหัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจขอให้องค์การรักษาความปลอดภัยช่วยตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับชั้นความลับ และกำหนดให้การมอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการให้ยึดหลักการจำกัดให้ทราบเท่าที่จำเป็น (ร่างข้อ 8 ถึงร่างข้อ 12)

4. กำหนดชั้นความลับเป็น 3 ชั้น คือ ลับที่สุด ลับมาก และลับ (ร่างข้อ 15 ถึงร่างข้อ 18 )

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า “กรช.” ประกอบด้วย รัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้การประชุมของคณะกรรมการฯ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กำหนด โดยให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ (ร่างข้อ 19 ถึงร่างข้อ 23 )

6. กำหนดหลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของบุคคล และการรับรองความไว้วางใจบุคคลเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ โดยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับความไว้วางใจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับความลับของทางราชการ (ร่างข้อ 25 ถึงร่างข้อ 30 )

7. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ โดยให้คำนึงถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ได้แก่ การจัดทำแผนการรักษาความปลอดภัย การกำหนดมาตรการและการสำรวจและตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ (ร่างข้อ 33 ถึงร่างข้อ 38)

8. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการรักษาความปลอดภัยในการประชุมลับ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการละเมิดการรักษาความปลอดภัย การลดหรือยกเลิกชั้นความลับ (ร่างข้อ 39 ถึงร่างข้อ 54)

9. กำหนดบทเฉพาะกาลรับรองสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการที่มีอยู่ก่อนตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 (ร่างข้อ 55)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ