มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2009 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวม 4 มาตรการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1.1 มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ และสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน

1.1.1 การขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 จาก 60,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท

ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประชาชนที่มีเงินได้ประเภทอื่นๆ นอกจากเงินเดือน ตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณภาษี ในอัตราร้อยละ 0.5 ซึ่งเท่ากับมีภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 300 บาท ขึ้นไป ซึ่งเมื่อเทียบกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่แล้ว จะเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่บุคคลกลุ่มนี้ จึงเห็นควรขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องนำมาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 ตามมาตรา 48 (2) จากที่ปัจจุบันกฎหมายกำหนดไว้ ให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 สำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาท ขึ้นไป เป็นให้คำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกินกว่า 1,000,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายวงเงินภาษีขั้นต่ำที่ต้องชำระจาก 300 บาท ต่อปี เป็นที่เกินกว่า 5,000 บาท ต่อปี อนึ่ง หากคำนวณภาษีแล้วมีจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระไม่เกิน 5,000 บาท ให้คำนวณภาษีตามมาตรา 48(1)

1.1.2 การเพิ่มเพดานวงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน จาก 1,200,000 บาท เป็น 1,800,000 บาท

รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจพื้นฐานของสังคมชนบท โดยได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ วิสาหกิจชุมชนที่มีเงินได้ไม่เกิน 1,200,000 บาท ต่อปี แต่หากวิสาหกิจชุมชนใดมีการเจริญเติบโต โดยมีรายได้เกิน 1,200,000 บาท ต่อปี วิสาหกิจชุมชนนั้นจะต้องเสียภาษีจากเงินได้ทั้งจำนวน

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 58,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งเพื่อเป็นรองรับวิสาหกิจชุมชนที่จะจัดตั้งเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้วิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 1,800,000 บาท ต่อปี ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ของวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับในปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2553

1.1.3 การสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC)

ธุรกิจเงินร่วมลงทุนถือเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปลอดดอกเบี้ยของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนมากขึ้น และเพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ จึงเห็นควรปรับปรุงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจเงินร่วมลงทุน ในประเด็นดังนี้

(1) ขยายเวลาการขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

(2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ได้รับการเว้นภาษีในประเด็นดังนี้

(2.1) ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนในปีแรก ที่กำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนต้องนำเงินไปลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ส่วนการลงทุนในปีที่ 2,3 และ 4 นั้น ยังคงกำหนดเท่าเดิม กล่าวคือ ลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40,60 และ 80 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ตามลำดับ

(2.2) ผ่อนปรนให้ ยังคงมีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนได้รับ เฉพาะกรณีที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนเข้าไปลงทุนมีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดิน เกิน 200 ล้านบาท หรือมีการจ้างแรงงานเกิน 200 คน ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากการที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนสามารถนำวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

1.2. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยมีการชะลอตัวลง เนื่องจากถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผลต่อกระทบในวงกว้างต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่เป็นผู้ซื้อบ้าน ผู้ประกอบการค้าอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงิน ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง แรงงานก่อสร้าง รวมถึงผู้ประกอบการขนส่ง

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะซบเซาให้มีการขยายตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจต่อเนื่อง จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ที่จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน โดยกรณีโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในปี พ.ศ. 2552 ให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมิน เป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ทั้งนี้ มาตรการตามเสนอเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่ให้หักค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้านเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี

1.3 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยว

ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น กิจการ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง บริษัททัวร์ ต้องหยุดหรือเลิกกิจการไป รวมทั้งต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการช่วยเสริมในเรื่องที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ส่วนราชการเร่งรัดการจัดการอบรมสัมมนาในประเทศจึงเห็นควรให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดโครงการอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถภายในประเทศ แทนการไปจัดอบรมสัมมนาในต่างประเทศ สามารถหักรายจ่ายในการคำนวณภาษี สำหรับรายจ่ายค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา ภายในประเทศ ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของที่จ่ายจริง ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายที่ได้เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552

1.4 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และโครงสร้างองค์กร

1.4.1 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้

จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ ผู้ประกอบกาต่างๆ ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบ ไม่มากก็น้อย ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ และเกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมา ซึ่งไม่เป็นการไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ค้ำประกันต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันการเงินด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดให้เกิดกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินลุกลามไปมากกว่านี้ จึงเห็นควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (NPL) ที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่ ลูกหนี้ของสถาบันการเงินสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

(2) ให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่น สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นและเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดิน

(4) ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงิน

1.4.2 การโอนกิจการบางส่วน

จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทต่างๆ มีความจำเป็นต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการขจัดอุปสรรคทางภาษีที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร จึงเห็นควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการโอนกิจการบางส่วน โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนหรือบริษัทจำกัด สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดิน ทั้งนี้ บริษัทผู้โอนและผู้รับโอนต้องโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

2. อนุมัติหลักการ

2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎรกา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 5 ฉบับ

2.2 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 2 ฉบับ และ

2.3 ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

รวม 8 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ