ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 13:13 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. ....

และมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

2. รับทราบมาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. กรณีสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองในระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2551 ทำให้ภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศต้องหยุดชะงัก การให้บริการผู้ประกอบกิจการด้านการขนส่งทางอากาศขาดทุน มีผู้โดยสารและสินค้าจำนวนมากติดค้างอยู่ภายในประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและภาพลักษณ์อันดีของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดมาตรการ หรือแนวทางการรักษาความปลอดภัย หรือการป้องกันกรณีที่เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวหรือเหตุอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้โดยสารและท่าอากาศยาน จึงได้ตรากฎหมายพิเศษขึ้นโดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการสำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นการเฉพาะ เพื่อให้อำนาจพนักงานของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตท่าอากาศยานได้

2. เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ในการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กระทรวงคมนาคมจึงได้เสนอมาตรการการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้กับท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบมาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกัน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... และมาตรการการรักษาความปลอดภัยดังกล่าว มาเพื่อดำเนินการ

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดบทนิยาม “ท่าอากาศยาน” “กิจการท่าอากาศยาน” “เขตท่าอากาศยานควบคุม” “คณะกรรมการ” “กรรมการ” “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” “พนักงาน” “ลูกจ้าง” และ “เจ้าพนักงาน” (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าอากาศยานการควบคุม การปรับปรุงและการให้ความสะดวกความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยแก่กิจการท่าอากาศยาน รวมทั้งออกประกาศเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานแก่กิจการท่าอากาศยาน (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้ประธานกรรมการ และกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าพนักงาน และให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการควบคุมผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนดในเขตท่าอากาศยานควบคุม และมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาและเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญาและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 7)

4. กำหนดให้พนักงานหรือบุคคลที่พนักงานมอบหมายมีอำนาจดำเนินการเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน (ร่างมาตรา 8)

5. กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือข้อบังคับของคณะกรรมการเกี่ยวกับ การรักษาความปลอดภัยแก่กิจการท่าอากาศยานตามกฎหมายนี้ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าร้อยบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ความผิดตามมาตรานี้ให้เจ้าพนักงานที่ทำการควบคุมตัวหรือจับ นำตัวผู้ถูกจับส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจโดยทันทีและไม่เกิน 24 ชั่วโมง (ร่างมาตรา 9)

มาตรการการรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการการรักษาความปลอดภัยเพื่อใช้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดำเนินการปรับใช้กับท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดมาตรการเป็น 2 ระดับ ดังนี้

1. มาตรการเร่งด่วน จัดตั้งด่านเพื่อตรวจตราและป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องตามเส้นทางเข้าออกท่าอากาศยาน

2. มาตรการต่อเนื่องในระยะยาว จัดตั้งจุดตรวจสอบถาวรสำหรับการตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางก่อนเข้าสู่ท่าอากาศยาน การวางแผน การฝึกซ้อมตามแผนรองรับภาวะฉุกเฉินของท่าอากาศยาน และจัดตั้งศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ