การให้ อ.ส.ค. เป็นกลไกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานมดิบล้นตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 13:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่มีงบประมาณจัดซื้อนมพร้อมดื่ม จัดซื้อจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ โดยวิธีกรณีพิเศษ ตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุที่กำหนดไว้

2. อนุมัติในหลักการให้ อ.ส.ค. ขยายวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ข้อเท็จจริง

อุตสาหกรรมนมได้รับผลกระทบจากปัญหาความตื่นตระหนกของผู้บริโภคต่อข่าวสารเมลามีนปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นมจากประเทศจีน ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อจากผู้บริโภคลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนน้ำนมดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา ทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์นมทั้งอุตสาหกรรมนมลดลงกว่าร้อยละ 30 โดยที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนมส่วนใหญ่จะปฏิเสธการรับซื้อน้ำนมดิบ หรือรับซื้อน้อยกว่าบันทึกข้อตกลง (MOU) ทำให้ อ.ส.ค. จำเป็นต้องรับซื้อน้ำนมดิบมากกว่า MOU เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 โดยในเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 ได้รับซื้อน้ำนมดิบในปริมาณเฉลี่ย 420 ตัน/วัน น้ำนมดิบเกินกว่า MOU ที่ตกลง (366 ตัน/วัน) อยู่จำนวนกว่าวันละ 54 ตัน ในขณะที่ อ.ส.ค.จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมได้เพียงเฉลี่ยวันละ 295 ตัน/วัน ทำให้มีสต็อกนม ยู.เอช.ที. สะสมรอจำหน่าย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 ประมาณ 17,000 ตัน มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของ อ.ส.ค. ภายในเดือนมกราคม 2552 และไม่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรตาม MOU ที่ตกลงกันได้

แนวทางการแก้ไขปัญหาของ อ.ส.ค.

1. คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้ประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรโดยภาพรวม และนำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในการขออนุมัติงบประมาณ (งบกลาง) จัดซื้อนมพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งเป็นนมดิบล้นในช่วงปีใหม่ที่ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด แจ้ง จำนวน 10 ล้านถุง (2,000 ตัน) ราคาถุงละ 6 บาท เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 60 ล้านบาท เพื่อแจกประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมนมส่วนที่ล้นของสหกรณ์โคนมที่ขายน้ำนมดิบให้แก่ อ.ส.ค.กว่า 40 สหกรณ์ ซึ่ง อ.ส.ค. ต้องรับมาผลิตโดยไม่สามารถนำมาจำหน่ายในโครงการนี้ได้ เป็นเวลา 4 เดือน (ตุลาคม-มกราคม) คิดเป็นผลิตภัณฑ์นม 5,940 ตัน หรือคิดเป็นนม ยู.เอช.ที. ขนาด 200 มิลลิลิตร ตรานมโรงเรียน จำนวน 29,700,000 กล่อง

2. ดังนั้น เพื่อให้ อ.ส.ค. สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหานมดิบล้นตลาดต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องสนับสนุนเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาแก่ อ.ส.ค. ได้แก่ การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่มีงบประมาณจัดซื้อนมพร้อมดื่ม สามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมจาก อ.ส.ค.ได้ โดยวิธีกรณีพิเศษ ซึ่งผลิตภัณฑ์นม อ.ส.ค. จะผลิตโดยใช้นมสดของเกษตรกร 100% ไม่มีผสมนมผง สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์นมที่จำหน่ายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จะต้องผลิตจากน้ำนมดิบเกษตรกรเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ ได้อนุมัติให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี กลุ่มอาชีพสหกรณ์โคนมและโรงนมสวนจิตรลดา

3. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้นของ อ.ส.ค. และทำให้ อ.ส.ค. สามารถชำระหนี้ค่าน้ำนมดิบให้แก่เกษตรกรได้ตามปกติ จึงขออนุมัติให้ อ.ส.ค.ขยายวงเงินกู้เบิกเกินบัญชีกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มจาก 100 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่เพิ่ม 200 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินงาน มีอายุ 1 ปี โดยอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันให้กับ อ.ส.ค.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ