โครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำตามมติคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 13:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้

1. เห็นชอบโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

2. สำหรับวงเงินที่ใช้ในการดำเนินการให้สถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่า จำนวน 200,000 ตัน วงเงิน 8,000 ล้านบาท เห็นควรให้ใช้จากวงเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและผลผลิตทางการเกษตร วงเงิน 110,000 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 โดยให้กำหนดเงื่อนไขเดียวกันกับผลผลิตทางการเกษตรอื่นในโครงการ คือ ให้เร่งระบายผลผลิตเพื่อปิดบัญชีโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และชำระเงินคืนให้แก่ ธ.ก.ส. โดยเร็ว

3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 270 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าบริหารและดำเนินการโครงการฯ ดังกล่าว โดยให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

ข้อเท็จจริง

กรมวิชาการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา จัดทำโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ และเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาหารือกันในหลักการและวิธีการดำเนินงานตามโครงการฯ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณามาตรการ กรอบการดำเนินงานและงบประมาณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร

คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้เห็นชอบในหลักการสำหรับวงเงินดำเนินการตามโครงการนี้ ในการประชุม เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกรอบวงเงินรวม 13,580.75 ล้านบาท เพิ่มเติมสำหรับการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร (รวมทั้งยางพารา) ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้ว ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียด แผนงาน/โครงการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคายางตกต่ำลงมากแทบไม่คุ้มต้นทุนการผลิต ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ไขปัญหาหลายประการ โครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางที่มิใช่การแทรกแซงราคายางดังในอดีตที่ผ่านมา ที่รัฐต้องจ่ายเงินซื้อยางเก็บสต๊อกยางและจำหน่ายยางเอง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและเกิดผลเสียมากกว่าผลดี คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการฯ นี้ โดยรัฐบริหารจัดการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดสรรเงินกู้แบบปลอดดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรไปบริหารเพื่อแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าและเก็บสต๊อกไว้ตามกฎเกณฑ์และข้อกำหนด เมื่อยางมีราคาสูงขึ้นจึงจะนำออกจำหน่าย รัฐไม่ต้องเสี่ยงกับเรื่องกำไรหรือขาดทุน อีกส่วนหนึ่งรัฐจัดสรรงบประมาณ (งบกลาง) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบริหารโครงการฯ และจ่ายค่าธุรกิจให้ธนาคารฯ ในส่วนที่จัดเงินกู้แบบปลอดดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรตามอัตราส่วนที่ธนาคารกำหนด (ร้อยละ 3)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ