ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2009 13:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. เรื่องแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กรอ. และผลการพิจารณาข้อเสนอด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กรอ. เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. แนวทางการทำงานของคณะกรรมการ กรอ. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบดังนี้

1.1 คณะกรรมการ กรอ. จะประชุมสลับกับคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันกลั่นกรองวาระและจัดลำดับการนำเสนอในการประชุม

1.2 วาระการประชุมหลัก จะประกอบด้วยเรื่อง (1) ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ (2) พิจารณาประเด็นการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตามข้อเสนอของภาคเอกชน และ (3) รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามข้อเสนอของภาคเอกชน ทั้งที่เป็นมาตรการ แผนงาน/โครงการ

1.3 การพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการ กรอ. ที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เห็นชอบ หรือรับทราบแล้วแต่กรณี ให้ถือปฏิบัติว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. แล้ว โดยไม่ต้องเวียนขอความเห็นจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ กรอ. อีก

1.4 ให้ใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการ กรอ. โดยเฉพาะองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุม

2. ข้อเสนอของภาคเอกชน

ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ กกร. และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะกลางและระยะยาว ดังนี้

2.1 การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

2.1.1 ประธาน กกร. ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คณะ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) คณะกรรมการ กรอ. ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (2) คณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์ (3) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และ (4) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

2.1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

(1) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการ กรอ.ระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยมอบหมายกระทรวงมหาดไทยรับไปหารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ และรายงานต่อคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

(2) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์ เพื่อเร่งรัดและผลักดันให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง การเก็บรักษา ระบบกระจายสินค้า ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และกฎระเบียบ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในต่างประเทศและในประเทศ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการยกร่างคำสั่งและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ สศช. เป็นฝ่ายเลขานุการ

(3) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การขนส่ง น้ำและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อวางแผนและกำกับดูแลภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ บริการและท่องเที่ยว รวมทั้งการอยู่ร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่ โดยมอบหมาย สศช. หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เรื่ององค์ประกอบ และนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

(4) ให้ภาคเอกชนรับไปประมวลประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกของการตรวจคนเข้าเมือง แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการ กรอ. เพื่อหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานและแนวปฏิบัติร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดการใช้ดุลพินิจในการตีความ ซึ่งอาจนำไปสู่การบิดเบือนในการบังคับใช้กฎหมาย

2.2 การเสริมสร้างสภาพคล่องและภาษี

2.2.1 ประธาน กกร. ได้นำเสนอข้อเสนอเกี่ยวกับการเสริมสร้างสภาพคล่องและภาษี 8 เรื่อง ได้แก่ (1) ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551 โดยการเพิ่มค่าลดหย่อนจาก 150,000 บาท เป็น 200,000 บาท (2) ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20-25 และขอขยายเวลาในการนำผลขาดทุนสะสมมาหักภาษีเงินได้จาก 5 ปี เป็น 8 ปี (3) ยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากการปรับโครงสร้างหนี้ (4) ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่ายทุกประเภท ให้เหลือร้อยละ 1 เพียงอัตราเดียว (5) ผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ พ.ศ. .... (6) สร้างความต่อเนื่องในมาตรการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องต้นทุนต่ำ และมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (7) จัดตั้งกองทุน SMEs ดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 50,000 ล้านบาท และ (8) เร่งรัดคืนภาษีอากร

2.2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

(1) มอบหมายกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาศึกษาเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20-25 และการปรับปรุงโครงสร้างภาษีในระยะต่อไป

(2) มอบหมายกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาเรื่องการเร่งรัดการคืนภาษี โดยให้ภาคเอกชนรวบรวมประเด็นปัญหาและข้อมูลวงเงินที่คงค้าง รวมทั้งเรื่องการขอชะลอการชำระหรือผ่อนชำระภาษีเป็นรายกรณี ส่งให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดดำเนินการต่อไป

(3) มอบหมายกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการตามแนวคิดที่จะให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยผ่อนปรน โดยผ่านสถาบันการเงินที่มีการระดมทุนในลักษณะ Matching Fund

2.3 การแก้ไขปัญหาการว่างงาน

2.3.1 ประธาน กกร. ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะเร่งด่วน 3 ประการ ได้แก่ (1) ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ประสบปัญหาด้านแรงงาน โดยเร่งดำเนินการในจังหวัดที่มีแนวโน้มเลิกจ้างหรือปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ในรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (2) กำหนดมาตรการจูงใจเพื่อชะลอหรือบรรเทาการเลิกจ้างงาน โดยสนับสนุนงบประมาณสถานประกอบการที่ไม่ประสงค์จะเลิกจ้างแต่อาจจำเป็นต้องเลิกจ้าง และสถานประกอบการที่ประสงค์จ้างแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแล้ว อุดหนุนงบประมาณจ้างแรงงานว่างงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐ และจัดสรรงบประมาณการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้แก่แรงงานระหว่างการว่างงาน และ (3) เร่งการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพให้มากขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร โรงงาน และภาคเอกชนเป็นผู้เช่าและบริหารจัดการ เพื่อลดภาระความเสี่ยง

2.3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายกระทรวงแรงงานให้ดำเนินการตามแผนงาน/โครงการที่ได้วางไว้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน และในระยะยาวควรให้ความสำคัญด้านการศึกษาเพื่อยกระดับองค์ความรู้และทักษะความชำนาญให้สูงขึ้น และตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง

2.4 แนวทางแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2.4.1 ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบด้วย แนวทางระยะเร่งด่วน ได้แก่ การกระตุ้นอุปสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมการจัดประชุม สัมมนาของหน่วยงานภาครัฐ จัดให้มีวันหยุดต่อเนื่อง จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ เช่น ลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ อนุญาตให้ผ่อนชำระภาษี จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ส่งเสริมการลงทุน ปรับปรุงอาคารของโรงแรม และมาตรการระยะกลางและระยะยาว เช่น บูรณะแหล่งท่องเที่ยว จัดระบบมาตรฐานสินค้าและบริการท่องเที่ยว ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศ

2.4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

(1) มอบหมายกระทรวงมหาดไทยรับนโยบายการอัดฉีดเงินภาครัฐเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศไปพิจารณา และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำงบประมาณในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (CEO) มาใช้ในการจัดสัมมนาต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด

(2) เห็นชอบงบประมาณประชาสัมพันธ์และการจัดมหกรรมลดราคา Amazing Thailand 2009 โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการ

(3) มอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาในการนำค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศหรือใช้บริการโรงแรมมาหักลดหย่อนภาษี และการขออนุญาตผ่อนชำระภาษีประเภทต่างๆ ของเอกชน โดยพิจารณาผ่อนปรนตามข้อกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่

(4) รับหลักการให้พิจารณาการสลับหรือเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ ให้ต่อเนื่องกับวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ เพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชนและสถาบันการเงิน ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณารายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

(5) มอบหมายกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนเพื่อการฝึกอบรมบุคลากร เร่งรัดดำเนินการฝึกอบรมโดยให้ใช้สถานประกอบการภาคเอกชน และให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

(6) มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนกับผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการปรับปรุงอาคารสถานที่ในปี 2552 และ 2553 โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี สำหรับมูลค่าการปรับปรุงโรงแรม

(7) มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการจัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวทั้งด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และการรับรองมาตรฐานตามมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว และนำเสนอต่อคณะกรรมการ กรอ.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณปี 2553 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ต่อไป

2.5 มาตรการระยะกลางและระยะยาว

2.5.1 ประธาน กกร. ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวม 8 เรื่อง ได้แก่ (1) ด้านการลงทุน อาทิ การเร่งรัดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนตามแนวชายแดนที่มีศักยภาพและการส่งเสริมการวิจัยภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น (2) ด้านการค้า อาทิ การเจรจาเขตการค้าเสรี การสนับสนุนเปิดตลาดใหม่ เป็นต้น (3) ด้านการท่องเที่ยว อาทิ การจัดประชุมของหน่วยงานราชการ เป็นต้น(4) ด้านนโยบายภาษี อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษี ทบทวนภาษีวัตถุดิบ เป็นต้น (5) ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ อาทิ การสนับสนุนการดำเนินงานคณะทำงานพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม การสนับสนุนแผนสร้างรถไฟรางคู่ เป็นต้น (6) ด้านกฎหมาย อาทิ เร่งรัดการออกกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง การขยายเวลาใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ออกไปอย่างน้อย 2 ปี เป็นต้น (7) ด้านพลังงาน อาทิ การกำหนดนโยบายพลังงานทดแทนที่ชัดเจน การส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น และ (8) ด้านการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ อาทิ การสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อเอื้อต่อการลงทุน การจัดการด้านชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมท่าเรือชายฝั่งตะวันตก เป็นต้น

2.5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายให้ภาคเอกชนหารือกับ สศช. เพื่อจัดหมวดหมู่ข้อเสนอของภาคเอกชนที่เป็นมาตรการระยะปานกลางและระยะยาว รวมทั้งหาแนวทางดำเนินการแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มกราคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ