ขออนุมัติในหลักการกู้เงิน Short term facility สำหรับรัฐวิสาหกิจ วงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 4, 2009 11:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหา Short term facility จากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท และกรอบและเงื่อนไขการกู้เงินภายใต้รูปแบบเงินกู้แบบ Sort term facility ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

เหตุผลและความจำเป็น

1. กระทรวงการคลังมีนโยบายในการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะเชิงรุก (Pro-active debt management) โดยจัดการหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนต่ำและอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม การหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงติดตามภาวะตลาดเงินและตลาดทุนและเทคนิคในการบริหารหนี้สาธารณะและการพัฒนาเครื่องมือการระดมทุนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ในส่วนการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจได้ใช้ 2 วิธีการหลักในการระดมทุน คือ การออกพันธบัตรและการกู้เงินแบบ Term loan อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจในทางปฏิบัติเพื่อมิให้กระทบต่อสภาวะตลาดการเงินโดยรวม และอัตราดอกเบี้ยที่รัฐวิสาหกิจจะได้รับ ซึ่งหากเป็นไปได้จะทำการประมูลในคราวละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ต่อรายรัฐวิสาหกิจ ต่อสัปดาห์ ซึ่งในบางครั้งรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องกู้เงินในวงเงินที่สูงเกินกว่านั้นในวันเดียว จึงจำเป็นต้องทำการ Bridge financing ระยะสั้นไปก่อนแล้วทยอยออกพันธบัตรระยะยาวมาใช้ทดแทนในภายหลัง

2. จากภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดมีความผันผวนทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินลด/ชะลอความต้องการลงทุนไปก่อน นอกจากนี้ สถาบันการเงินมีความเข้มงวดและจำกัดในการให้สินเชื่อ โดยการกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาในบางครั้งมีสถาบันการเงินที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเงินกู้เพียงไม่กี่ราย และเสนอส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (spread) ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจสูงขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะกู้เงินได้ไม่ครบวงเงินที่ต้องการ ซึ่งในกรณีที่บางรัฐวิสาหกิจที่มีข้อจำกัดเรื่องมติคณะรัฐมนตรี อำนาจการกู้เงินหรือเวลา เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถชะลอการกู้เงินออกไปได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินและได้รับการเสนอเงินให้กู้ในต้นทุนที่สูงนั้น รัฐวิสาหกิจจำต้องยอมรับข้อเสนอโดยไม่มีทางเลือกการกู้เงินอื่นได้

3. จากพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 25 และ 28 ได้กำหนดกรอบเพดานการค้ำประกันเงินกู้ (ในประเทศและต่างประเทศ) และให้กู้ต่อ (ในประเทศ) ได้ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในปีงบประมาณ 2551 มียอดค้ำประกันเงินกู้และการให้กู้ต่อทั้งสิ้นสูงถึง ร้อยละ 16.99 และในปีงบประมาณ 2552 คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจที่กู้เงินในประเทศแจ้งว่าจะขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสูงเกินกรอบเพดานภาระการค้ำประกันได้

รูปแบบเงินกู้แบบ Short term facility

เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาเงินของรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังเห็นควรเจรจาและจัดทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินให้จัดเตรียมวงเงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ Short term facility ดังนี้

วงเงิน                          ไม่เกิน 200,000 ล้านบาท
ระยะเวลา                       3 ปี
แหล่งเงิน                        ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจค่าธรรมเนียมและ

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นไปตามข้อเสนอของธนาคาร ซึ่งจะได้เจรจาต่อรองต่อไปการรายงานผลการกู้เงิน

เป็นรายไตรมาสต่อคณะรัฐมนตรี

และในส่วนกรอบและเงื่อนไขการกู้เงิน Short term facility ดังนี้
ผู้กู้                             รัฐวิสาหกิจ
วัตถุประสงค์ของการกู้เงิน            เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย/โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ/ชำระคืนเงินกู้เดิมเพื่อเป็นการบริหารและจัดการ

เงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อป้องกันความเสียหาย

ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่กระทรวงการคลังในกรณีที่เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้น

ของรัฐวิสาหกิจ (Default risk)

ระยะเงินกู้                       อายุเงินกู้ระยะไม่เกิน 18 เดือน
อัตราดอกเบี้ย                     ใช้อัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์

ขนาดใหญ่(FDR) เฉลี่ย (ธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกรุงไทยฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ และธนาคาร

กสิกรไทยฯ) เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับทุกอายุเงินกู้

การเบิกจ่ายเงินกู้                  รัฐวิสาหกิจจะขอเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและ/หรือสถาบัน

การเงินเฉพาะกิจที่เสนอเงื่อนไขต้นทุนการกู้เงินที่ต่ำที่สุดก่อน โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า

5 วันทำการ

การค้ำประกัน                     การค้ำประกันเงินกู้ (ต้นเงินและดอกเบี้ย) แบบบางส่วน (Partial guarantee) ก่อน และ

จะพิจารณาค้ำประกันเต็มจำนวนเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น โดยวงเงินการค้ำประกันต้องไม่เกินกว่า

ที่กฎหมายกำหนดไว้

การคิดค่าธรรมเนียมการ             ตามสัดส่วนของวงเงินที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และ
ค้ำประกัน                        ตามประกาศกระทรวงการคลังได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ

ประโยชน์ที่จะได้รับ
  • เพื่อเสริมสภาพคล่องและประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการหนี้สินเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี และเป็นวงเงินกู้สำรองในกรณีที่ตลาดการเงินและตลาดทุนมีความผันผวนหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการกู้เงิน
  • เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ในกรณีฉุกเฉินหรือเป็นวงเงินกู้สำรองในประเทศให้แก่รับวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินในประเทศเพื่อใช้อย่างเร่งด่วน ซึ่งการกู้เงินจากสถาบันการเงินด้วยวิธีการตามปกติ ไม่สามารถจัดหาได้ทันหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  • เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการให้การกู้เงินในประเทศของภาครัฐ (รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) ไม่ต้องกระจุกตัวช่วงใดช่วงหนึ่งซึ่งจะไม่ส่งผลให้เกิด Crowding out effect ต่อภาคเอกชน
  • เพื่อใช้สำหรับการ Bridge Financing สำหรับดำเนินโครงการการบริหารและจัดการเงินกู้ของรัฐสาหกิจที่ได้รับการบรรจุในแผนการบริหารหนี้สาธารณะไปก่อนแล้วหาเงินกู้ระยะยาว Refinance ในภายหลัง
  • เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดแก่กระทรวงการคลังในกรณีที่เกิดความเสี่ยงในการผิดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของรัฐวิสาหกิจ (Default risk)
  • เพื่อใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงกับอัตราดอกเบี้ยจากการกู้เงินตามปกติด้วยวิธีการออกพันธบัตรหรือการกู้เงินแบบ Term Loan

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ