ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการ

ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ และให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป

สำนักงาน ก.พ.เสนอว่า

1. มาตรา 110 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2551 ได้บัญญัติให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. และเพื่อให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สำนักงาน ก.พ. จึงได้ยกร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว

2. ก.พ. ได้พิจารณาเห็นชอบหลักการร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล พ.ศ. .... และให้เสนอ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ก.พ.ได้เสนอ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการพิจารณาตรวจร่างดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งอนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป จึงได้เสนอร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลออกจากราชการ เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล โดยมีหลักการและแนวทาง ดังนี้

1. หลักการ

1.1 ทรัพยากรบุคคลถือเป็นทุนซึ่งต้องได้รับการบริหารจัดการเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

1.2 ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเพื่อใช้ประกอบการแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน และส่วนราชการ มีหน้าที่เพิ่มพูนประสิทธิภาพแก่ข้าราชการโดยการพัฒนาให้มีคุณภาพในการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

1.3 การสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการตามมาตรา 110 (5) นี้ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

1.4 ผู้ถูกสั่งให้ออกมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)

2. ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการอยู่ในระดับที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรให้ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงตนเอง โดยให้ผู้บังคับบัญชาและข้าราชการปรับปรุงตนเองร่วมกัน ทำคำมั่นและวางแผนโดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาปรับปรุงตนเองและการปฏิบัติราชการเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินผลต่อไป (ร่างข้อ 4)

3. การประเมินผล

3.1 ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองอีก ไม่เกินสองรอบการประเมิน หากมีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ตามคำมั่นในการพัฒนาปรับปรุงตนเองก็ให้ผู้บังคับบัญชาเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 พิจารณาสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการ (ร่างข้อ 4 วรรคสอง และร่างข้อ 5 (3))

3.2 เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีคำสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ ให้รายงาน อ.ก.พ. กระทรวงในกรณีที่ อ.ก.พ.กระทรวงเห็นคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม และมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติ (ร่างข้อ 5 วรรคท้าย)

3.3 ข้าราชการที่ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 110 (5) มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งให้ออกจากราชการ (ร่างข้อ 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ