คณะรัฐมนตรีรับทราบญัตติด่วน เรื่อง ปัญหาชายแดนภาคใต้และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพเพื่อความมั่นคง ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้แจ้งสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
ข้อเท็จจริง
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งญัตติด่วน เรื่อง ปัญหาชายแดนภาคใต้และ การปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพเพื่อความมั่นคง (พันตำรวจโท สมชาย เพศประเสริฐ และนายบุญเลิศ ครุฑขุนทด เป็นผู้เสนอ) มาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญคือ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อนโยบายความมั่นคงของกองทัพซึ่งนโยบายด้านการรักษาความมั่นคงของรัฐถือเป็นภารกิจที่สำคัญของกองทัพที่จะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันประเทศ แต่ปัจจุบันประสิทธิภาพของกองทัพอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหาภายในและภายนอกของกองทัพจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพให้เกิดความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนภายในประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไข
2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมผลการดำเนินการ แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ผลการพิจารณาของกระทรวงกลาโหม
1.1 การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ดำเนินการโดยประกาศใช้นโยบายเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการในการดำเนินการโดยกำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นองค์กรรับผิดชอบในระดับนโยบายกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรรับผิดชอบแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 เป็นองค์กรอำนวยการให้มีการปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่ต้องบูรณาการกำลังและการปฏิบัติโดยกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยรับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 องค์กรจะน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาเป็นปัจจัยคิดในการวางกรอบแนวทางการปฏิบัติด้านวิธีสันติ
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงนั้น จะใช้การเมืองนำการทหารเป็นประการสำคัญ เพราะหากใช้การทหารแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถดับไฟใต้ได้เฉพาะงานการเมืองของฝ่ายทหารนั้นมีกรอบการปฎิบัติเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การทหารบรรลุความสำเร็จเพื่อสถาปนาความมั่นคง สร้างบรรยากาศความปลอดภัย เพื่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาได้อย่างราบรื่นไม่ชะงักงัน และยังหมายรวมไปถึงการเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมดาควบคู่กันไปได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้อง
งานด้านการเมือง จะกระทำเพื่อสนับสนุนการเอาชนะการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้ายการเอาชนะความคิดความเชื่อของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และเอาชนะจิตใจของประชาชนส่วนใหญ่ มุ่งกระทำต่อบุคคลเป้าหมาย
งานด้านการทหาร ได้แก่ การปฏิบัติการทั้งปวงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเชิงรุกและมาตรการเชิงรับ
1.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพของกองทัพเพื่อความมั่นคง กระทรวงกลาโหมเป็นส่วนราชการ หลักในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพไทย ได้แก่ การเสริมสร้างระบบการป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงในการกำหนดยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศนั้น กองทัพไทยได้กำหนดแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ไว้ 3 ประการ คือ การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง การผนึกกำลังป้องกันประเทศ และการป้องกันเชิงรุก
ในการเสริมสร้างกำลังกองทัพนั้น กองทัพไทยได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างกองทัพได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2550 มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2559 รวมทั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างกองทัพดังกล่าวก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทัพให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งจะเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับชาติบ้านเมืองและประชาชน ให้อยู่ด้วยความสงบสุขและสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นการดำเนินการของกระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนหรือได้รับความร่วมมือทั้งด้าน นโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวคิด และงบประมาณที่เพียงพอ จากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีศักยภาพที่สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุภารกิจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
2. ผลพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยรับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาซึ่งมีส่วนสนับสนุนกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปี 2550-2554) โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการปรับความคิดความเชื่อและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมซึ่งมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของฝ่ายทหาร ได้แก่
2.1 มีการทำงานร่วมกับฝ่ายทหารในลักษณะการบูรณาการการทำงานทุกระดับ
2.2 การเสริมสร้างศักยภาพของกองกำลังฝ่ายพลเรือนและกองกำลังประชาชน
2.3 การสนับสนุนการปฏิบัติการทางด้านยุทธการของฝ่ายทหารในการปิดล้อมตรวจค้น และควบคุมตัวแกนนำและแนวร่วมในหมู่บ้าน
2.4 การปฏิบัติร่วมกันกับฝ่ายทหารในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย
การทำงานร่วมกันของฝ่ายทหารและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้งบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในช่วงที่ผ่านมา ได้ประสบปัญหาทางด้านงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ ประกอบกับการใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดกฎ ระเบียบ และวิธีการใช้จ่ายงบประมาณเช่นเดียวกับการปฏิบัติงานในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งขาดความยึดหยุ่นในการใช้จ่ายงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาการขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงสมควรให้การสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ รวมทั้งการปรับปรุงการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--