ขออนุมัติหลักการแผนการตลาดเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และกระตุ้นการท่องเที่ยว ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแผนการตลาดเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และกระตุ้นการท่องเที่ยว ปี 2552 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนการตลาดเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และกระตุ้นการท่องเที่ยว ปี 2552 ให้ใช้จากงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 วงเงิน 1,912,970,000 บาท ที่คณะรัฐมนตรีมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 (เรื่อง ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และขออนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ปิดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ)

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า

1. ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของโลกประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 16 ในช่วงเดือนกันยายน 2551 และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยลดลงอย่างรุนแรงเกือบร้อยละ 30 และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2552 ในอัตราประมาณร้อยละ 15-20 นอกจากนี้ยังทำให้คู่ค้าต่าง ๆ คือ สายการบินนานาชาติและบริษัทนำเที่ยวในต่างประเทศขาดการจูงใจในการช่วยฟันฝ่าวิกฤต รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริษัทนำเที่ยวไทยมีปัญหาขาดสภาพคล่องอีกด้วย ปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยและสร้างความเสียหายต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูภาพลักษณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา และกระตุ้นให้นักท่องที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

2. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดทำแผนการตลาดเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์และกระตุ้น การท่องเที่ยว ปี 2552 ขึ้น สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 ผลการวิเคราะห์ระดับผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองของไทย มีผลต่อกลุ่มตลาด 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

2.1.1 กลุ่มตลาดศักยภาพพร้อมเดินทาง ได้แก่ สแกนดิเนเวีย รัสเซีย อินโดนีเซีย และบางตลาดในตะวันออกกลาง เป็นกลุ่มที่มีความรู้สึกด้านลบต่อไทยในระดับต่ำ และปัญหาเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบรุนแรง ต่อกำลังซื้อของประชาชนมีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น ควรใช้กลยุทธ์การตลาดโดยเสริมสร้างความมั่นใจ สามารถนำไปสู่การขยายฐานการตลาด

2.1.2 กลุ่มตลาดมีโอกาสกลับคืน ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน อิตาลี ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มที่มิได้ลดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและยังพึงพอใจในแหล่งท่องเที่ยวไทย แต่มีความกังวลในรูปแบบการเผชิญหน้า ซึ่งทำลายจุดแข็งภาพลักษณ์ความเป็นมิตรของคนไทยรวมทั้งต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหา จึงมีแนวโน้มชะลอการท่องเที่ยวนอกภูมิภาค ไทยจึงต้องใช้โอกาสความคุ้มค่าเงินดึงความสนใจและกระตุ้นการเดินทาง ควรใช้กลยุทธ์การตลาดโดยสร้างความเข้าใจเพื่อรักษาสถานะทางการตลาด

2.1.3 กลุ่มตลาดชะลอตัว ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นกลุ่มที่ขาดความเชื่อมั่นต่อไทยค่อนข้างมาก โดยจีนและออสเตรเลียไม่มีการถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรง แต่ความสนใจต่อประเทศไทยผันแปรตามระดับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ขณะที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และเวียดนาม มีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวอาจมีปัญหาการเดินทางท่องเที่ยวระยะไกล ไทยจึงสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ ควรใช้กลยุทธ์การตลาดโดยฟื้นความเชื่อมั่นและรักษาฐานตลาด

2.1.4 กลุ่มตลาดหดตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เป็นกลุ่มที่เสียความเชื่อมั่นต่อไทยในระดับสูง มีความอ่อนไหวสูงเรื่องความปลอดภัย และเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ อีกทั้งประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับสูง แต่เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ของไทย จึงจำเป็นต้องเรียกศรัทธาคืนโดยคาดหวังเพียงเพื่อประคับประคองตลาด ควรใช้กลยุทธ์การตลาดโดยเร่งสร้างศรัทธาเพื่อประคับประคองตลาด

2.2 แนวทางและมาตรการแก้ไขผลกระทบ โดยดำเนินการแก้ไขในระดับนโยบายและมาตรการด้านการตลาดควบคู่กันไป ดังนี้

2.2.1 สร้างแรงจูงใจในกลุ่มลูกค้าและแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องโดยดำเนินการในระดับมหภาคที่มีการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน และได้รับการผลักดันในระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการ ดังนี้

(1) สร้างแรงจูงใจในกลุ่มคู่ค้า ได้แก่ ลดค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวกด้านการบินในช่วงไตรมาสแรก ยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา สร้างแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการจัด Corporate Meeting ภายในประเทศในปี 2552 และกำหนดนโยบายให้หน่วยราชการจัดประชุมสัมมนานอกพื้นที่เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมสัมมนา/ทัศนศึกษาดูงานในประเทศ

(2) แก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ได้แก่ ลดภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2552 Subsidize ค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับเอกชนในการร่วมเสนอขายประเทศไทยในงาน Trade Fair

2.2.2 ส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยว ได้แก่ มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวม และมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะกลุ่ม

2.3 มาตรการด้านการตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวม ประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนงานฟื้นฟูภาพลักษณ์สร้างความเชื่อมั่น 2) แผนงานกระตุ้นการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และ 3)แผนงานกระตุ้นตลาดในประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ