การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2009 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี (18 สิงหาคม 2541) เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้

1. หลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ

1.1 การผูกพันงบประมาณล่วงหน้า ควรกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกินกว่า 5 ปี

1.2 จะต้องเป็นโครงการ หรือรายการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีรายการที่จะต้องผูกพันงบประมาณข้ามปีปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ๆ

1.3 การผูกพันงบประมาณรายจ่ายลงทุนใหม่ในแต่ละปีงบประมาณ เมื่อรวมกับภาระผูกพันเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่กำหนดไว้ก่อนแล้วทุกกรณีจะต้องมียอดภาระงบประมาณที่จะผูกพันในปีงบประมาณต่อ ๆ ไปแต่ละปี เปรียบเทียบกับรายจ่ายลงทุนที่ส่วนราชการที่ได้รับในปีงบประมาณนั้น ดังนี้

ปีงบประมาณที่ 1 ไม่เกินกว่า ร้อยละ 60

ปีงบประมาณที่ 2 ไม่เกินกว่า ร้อยละ 40

ปีงบประมาณที่ 3 ไม่เกินกว่า ร้อยละ 20

ปีงบประมาณที่ 4 ไม่เกินกว่า ร้อยละ 10

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับเฉพาะการผูกพันงบประมาณข้ามปีล่วงหน้าที่มีระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี เท่านั้น

สำหรับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม รายจ่ายลงทุนตามวรรคแรกให้หมายถึง รายจ่ายเพื่อการพัฒนากองทัพ

1.4 การผูกพันงบประมาณที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในลักษณะการกู้เงินในรูปสินเชื่อผู้ผลิต (Supplier’s Credit) หรือการก่อหนี้ในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) หารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเกี่ยวกับเงื่อนไขการก่อหนี้ที่เหมาะสมด้วย

1.5 การผูกพันงบประมาณที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษที่จะต้องดำเนินการเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ ตามข้อ 1.1-1.3 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ยกเว้นในกรณีที่ส่วนราชการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราทำให้ส่วนราชการที่ได้รับอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายการต่าง ๆ ในวงเงินที่คิดเทียบจากสกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น ณ วันที่ลงนามในสัญญา ซึ่งจะมีผล ทำให้วงเงินรวมเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม หากค่าดำเนินการที่เป็นเงินตราสกุลต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ส่วนราชการเสนอ ก็ให้ส่วนราชการลงนามในสัญญาได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

1.6 รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้น ๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด

1.7 การผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณตามข้อ 1.3 ให้ดำเนินการตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด เว้นแต่กรณีส่วนราชการดำเนินงานล่าช้า ให้ สงป. สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนภาระผูกพันงบประมาณในการเสนอตั้งงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานจริงของส่วนราชการได้ตามความเหมาะสม

2. มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงรายการและเงินงบประมาณ

2.1 ให้ส่วนราชการดำเนินการสำรวจออกแบบการก่อสร้างหรือกำหนดคุณลักษณะเฉพาะคุรภัณฑ์ที่จะจัดซื้อจัดจ้างก่อนเสนอคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.2 ให้ส่วนราชการดำเนินการเสนอขอตั้งค่าจ้างสำรวจออกแบบการก่อสร้างเพื่อให้ส่วนราชการ มีแบบรูปรายการก่อสร้างประกอบคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.3 ห้ามมิให้ส่วนราชการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปีในโครงการ หรือแผนงานที่เป็นงานก่อสร้างหรือจัดซื้อครุภัณฑ์ ซึ่งตามปกติสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณเดียว

2.4 หากส่วนราชการมีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการก่อสร้างหรือคุณลักษณะเฉพาะของรายการครุภัณฑ์ที่มีผลทำให้ประมาณราคากลางสูงกว่าวงเงินงบประมาณรวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพัน ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่มีผลทำให้วงเงินดังกล่าวเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 เท่านั้น โดยให้ทำความตกลงกับ สงป. ก่อนดำเนินการประกวดราคา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ