คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการคืนความเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
กระทรวงแรงงานเสนอว่า
1. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นกฎหมายซึ่งบัญญัติขึ้นมาเพื่อสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของกลุ่มสมาชิกผู้มีรายได้ เรียกว่าผู้ประกันตน และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อร่วมเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงาน รวมทั้งการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีรายได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเพราะเหตุสิ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง มาตรา 39 กำหนดว่า หากผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม
2. ต่อมาได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 โดยแก้ไขมาตรา 39 เป็นกำหนดว่า ผู้เคยเป็นผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเพราะเหตุสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากผู้นั้นประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน และกำหนดให้ความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สิ้นสุดลงตามมาตรา 41 คือในกรณีที่ผู้ประกันตนนั้นไม่ส่งเงินสมทบสามเดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลาสิบสองเดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบเก้าเดือน ผู้ประกันตนที่สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้ยื่นข้อร้องเรียนให้คืนความเป็นผู้ประกันตน ซึ่งกลุ่มผู้ประกันตนเหล่านี้รายได้ไม่แน่นอนและบางส่วนอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ จึงขาดโอกาสที่จะกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้อีก ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม
3. เนื่องจากการคืนความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีกำหนดระยะเวลาแสดงความจำนงภายใน เก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน จึงต้องออกเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว พระราชบัญญัติย่อมสิ้นสุดไป หากออกเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องจะทำให้มาตราที่แก้ไขปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ตลอดไป ทำให้เกิดความสับสนต่อผู้ประกันตน และอาจทำให้เป็นช่องทางแก่บุคลากรทางกฎหมายในการกล่าวอ้างข้อกฎหมายดังกล่าว
4. สำนักงานประกันสังคมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ประกันตน และกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมมีข้อเสนอให้ออกกฎหมายคืนสภาพให้แก่บุคคลผู้เคยเป็นผู้ประกันตนที่ขาดส่งเงินสมทบจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเป็นการกำหนดให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนและสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป ให้แสดงความจำนงภายใน 90 วัน โดยให้คืนความเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ได้รับอนุมัติ โดยไม่ต้องส่งเงินสมทบและเงินเพิ่มในช่วงระยะเวลาที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--