ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 5/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2009 14:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. มอบหมายให้ สศช. ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ให้ สศช. รวบรวมและนำเสนอคณะกรรมการ รศก. ต่อไป

2. มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องรายงานมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบ ของประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีในการเดินทางไปเจรจาในต่างประเทศ

สรุปสาระสำคัญผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

1. แนวทางการระดมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPPs) สาระสำคัญ

1.1 การดำเนินการโครงการในรูปแบบ PPPs เป็นการปรับรูปแบบและแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนภาครัฐ จากเดิมที่รัฐบาลจัดซื้อจัดจ้างเพื่อซื้อทรัพย์สินของโครงการ (Asset Based Contract) มาเป็นการที่รัฐบาล เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และเป็นผู้บริหารจัดการโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อบริการจากภาคเอกชนตามปริมาณ และคุณภาพงานที่กำหนด (Output Performance Based Contract) ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ สามารถลดปัญหาต้นทุนของโครงการที่เพิ่มขึ้น และความล่าช้าในการดำเนินการโครงการ (Project Cost/Time Overrun) เนื่องจากภาครัฐจะซื้อบริการจากภาคเอกชนเมื่อโครงการแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ตามข้อตกลงเท่านั้น (Payment Against Service Delivery) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารงบประมาณของภาครัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ทำให้รัฐบาลสามารถขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้ทันต่อความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ ภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

1.2 กระทรวงการคลังเห็นควรนำเสนอแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs ดังนี้

1) แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สศช. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการจัดทำและปรับปรุง ประกาศ กฎกระทรวง และระเบียบ รวมทั้งการยกร่างหลักเกณฑ์เพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ PPPs เพื่อสร้างความชัดเจนของขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการ กระบวนการเชิญชวนและพิจารณาคัดเลือกเอกชน การเจรจาต่อรองและจัดทำสัญญา รวมทั้งการบริหาร กำกับและติดตามโครงการ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

2) แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายด้าน PPPs ในภาพรวมและจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs (PPPs Unit) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อทำหน้าที่เป็น ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ และเป็นหน่วยงานกลางในการเสนอแนะนโยบายและหลักเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในรูปแบบ PPPs รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่หน่วยงานเจ้าของโครงการ

มติคณะกรรมการ รศก. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีหน้าที่ ดังนี้ (1) พิจารณาแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในรูปแบบ PPPs (2) กำหนดขั้นตอนและกระบวนการทำงาน ในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (3) ศึกษาแนวทางการปรับปรุงระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้นำผลการพิจารณาเสนอให้คณะกรรมการ รศก. และคระรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. กรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง สาระสำคัญ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของภาครัฐ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงาน และสร้างรายได้ที่มีความต่อเนื่องจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การขนส่ง โลจิสติกส์ พลังงาน การสื่อสาร และสาธารณูปการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

2) การลงทุนที่จะก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ

3) การลงทุนด้านสังคมเพื่อยกระดับความรู้และคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพของคนไทย

4) การลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ จะต้องเป็นโครงการที่มีความพร้อมสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2552 หรือปี 2553 เป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ตามเป้าหมายและ มีประสิทธิภาพ

2.2 การลงทุนตามกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ จะลงทุนใน 6 สาขาหลักที่สำคัญ ได้แก่ (1) สาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2) สาขาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาธารณูปการ (3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (4) การลงทุนด้านการศึกษา (5) การลงทุนพัฒนาคุณภาพระบบบริการสาธารณสุข (6) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยมีประมาณการกรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้นรวมประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท

2.3 การลงทุนใน 6 สาขาหลักข้างต้น คาดว่า จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงปี 2552-2555 ได้เทียบเท่ากับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.0 ต่อปี และยังจะมีผลต่อเนื่องต่อผลิตภาพการผลิตและการเพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะหลังจากปี 2555 อีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการมีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ดังนี้

1) ดำเนินการให้สอดคล้องกับกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

2) รักษาวินัยการคลัง โดยลดระดับการขาดดุลลงตามลำดับในช่วงปี 2554-2557 ก่อนที่จะกลับสู่ฐานการคลังสมดุลหลังจากนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อฐานะการคลังในระยะยาวและลดภาระหนี้ไม่ให้สูงเกินไป อันจะเป็นข้อจำกัดของการบริหารเงินงบประมาณแผ่นดินในอนาคต

3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาล ตั้งแต่กระบวนการวางแผนที่จะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น ขั้นตอนการปฏิบัติที่มีความโปร่งใส และมีการตรวจสอบ การวัดผลประเมินผลรวมทั้งระบบการรายงานผลการดำเนินงานอย่างเหมาะสม

4) ส่งเสริมการร่วมลงทุนโดยภาคเอกชนภายใต้กรอบ Public Private Partnerships (PPPs) มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและเหตุผลความจำเป็น ในการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง

2. เห็นชอบหลักการ และวัตถุประสงค์ ของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนของภาครัฐ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ที่มีความต่อเนื่องจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล

3. เห็นชอบสาขาการลงทุนสำคัญ จำนวน 6 สาขา ได้แก่ (1) สาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2) สาขาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่งโลจิสติกส์ พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาธารณูปการ (3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (4) การลงทุนด้านการศึกษา (5) การลงทุนพัฒนาคุณภาพระบบบริการสาธารณสุข และ (6) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และเห็นควรให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนด้านพืชอาหารและพืชพลังงาน การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม และการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

4. มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดส่งรายละเอียดแผนการลงทุนให้ สศช. รวบรวมและกลั่นกรอง และให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงการคลังพิจารณากรอบวงเงินให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและการรักษาวินัยการคลังที่ยั่งยืน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และนำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) พิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการ รศก. ต่อไป

3. ผลกระทบจากพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ต่ออุตสาหกรรมผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วน สาระสำคัญ ดังนี้

1) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ให้การส่งเสริมในประเภท 4.7 “กิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยาน รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานหรือเครื่องใช้บนอากาศยาน”โดยกำหนดให้เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ อยู่ในข่ายได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรสูงสุดและไม่จำกัดการถือหุ้นของต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 24 โครงการ

2) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงงานผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วน จะต้องได้รับใบอนุญาตผลิตจากอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ (มาตรา 41/21) ซึ่งเดิมไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 (มาตรา 41/24) และอำนาจการบริหารกิจการ ของผู้รับใบอนุญาตต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย (มาตรา 41/25)

3) การบังคับใช้กฎหมายข้างต้นส่งผลต่อทั้งผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีต่างชาติถือหุ้นข้างมากที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว รวมทั้งการชักจูงนักลงทุนรายใหม่จากต่างประเทศ

4) กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นควรเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายการเดินอากาศโดยเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ได้รับการส่งเสริมที่ดำเนินกิจการการผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนที่ดำเนินการอยู่แล้วในประเทศไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการใหม่ในประเทศไทย

มติคณะกรรมการ รศก.

1. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนของประเทศต่อไป แล้วรายงานคณะกรรมการ รศก. และคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคมร่วมกันจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนของประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอากาศยานทั้งระบบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ