ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 11:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า โดยที่มาตรา 85/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติให้ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้มีสิทธิเรียกร้องสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ โดยวิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติในการขอรับสิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

1. กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง รายละเอียดและหลักเกณฑ์การยื่นคำร้อง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ และการแจ้งให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง ผู้ต้องหา หรือผู้เสียหาย ทราบถึงการยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของเท่าที่จะทำได้ (ร่างข้อ 2-5)

2. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องดำเนินการตามสมควรเพื่อพิสูจน์สิทธิของตน กรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอคืนสิ่งของอย่างเดียวกันหลายราย (ร่างข้อ 6)

3. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งอนุญาตให้คืนสิ่งของแก่ผู้ยื่นคำร้องโดยไม่มีประกัน มีประกัน มีประกันและหลักประกัน หรือกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ยื่นคำร้องปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดวิธีดำเนินการในการสั่งคืนของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ (ร่างข้อ 7-10)

4. กำหนดหลักเกณฑ์การเรียกประกันหรือหลักประกันและการกำหนดเงื่อนไข โดยให้กำหนดมูลค่าของสิ่งของโดยคำนึงถึงราคาประเมินของทางราชการ หรือมูลค่าหรือราคาตามท้องตลาด และกำหนดหลักทรัพย์ซึ่งอาจใช้เป็นหลักประกันได้ รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณากรณีใช้บุคคลเป็นประกัน (ร่างข้อ 11-13)

5. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องจัดให้มีการตรวจพิสูจน์ บันทึกรายละเอียดร่องรอย หรือการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของสิ่งของ (ร่างข้อ 14)

6. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นไม่อนุญาตและสั่งให้ส่งคืนสิ่งของนั้นทันทีหรือเพิ่มเติมเงื่อนไขได้ หากได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามสัญญา แต่บุคคลนั้นฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ กรณีมูลค่าของหลักประกันลดลงหรือต่ำลงไปให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตหาหลักประกันมาเพิ่มให้ครบมูลค่าเดิมหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นก็ได้ (ร่างข้อ 15)

7. กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแจ้งให้ผู้รับอนุญาตคืนสิ่งของเมื่อมีเหตุตามที่กำหนด และเมื่อได้รับแจ้งให้คืนสิ่งของหรือครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาต ให้ผู้ได้รับอนุญาตคืนสิ่งของนั้นทันที ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตจะขอคืนสิ่งของก่อนครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตก็ได้ (ร่างข้อ 17-19)

8. กำหนดให้กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือไม่คืนสิ่งของแก่พนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดสิ่งของกลับคืนหรือดำเนินการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของนั้น (ร่างข้อ 20)

9. กำหนดวิธีการจัดการหลักประกันกรณีที่มิได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ร่างข้อ 21)

10.กำหนดให้ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาต (ร่างข้อ 22)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ