ร่างกฎกระทรวง รวม 8 ฉบับ ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 11:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวง รวม 8 ฉบับ ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

(ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2550 (ครั้งที่ 115))

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวง รวม 8 ฉบับ ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 (ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2550 (ครั้งที่ 115)) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

1.1 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ เครื่องปรับอากาศและค่าประสิทธิภาพพลังงาน (ร่างข้อ 1)

1.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดของเครื่องปรับอากาศ คือ ขนาดไม่เกิน 8,000 วัตต์ และขนาดมากกว่า 8,000 แต่ ไม่เกิน 12,000 วัตต์ มีค่าประสิทธิภาพพลังงาน 3.22 — 4.10 วัตต์ต่อวัตต์ (ร่างข้อ 2)

1.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศ (ร่างข้อ 3)

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

2.1 กำหนดคำนิยามต่างๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ ตู้เย็น ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ปริมาตรปรับเทียบ แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งด้วย มือ แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งกึ่งอัตโนมัติ แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งอัตโนมัติ ช่องแช่เย็น และช่องแช่แข็ง (ร่างข้อ 1)

2.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน โดยกำหนดค่าในรูปของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี ตามปริมาตรปรับเทียบของตู้เย็น ดังนี้

(1) ตู้เย็น 1 ประตู แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งด้วยมือ และแบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งกึ่งอัตโนมัติ

  • AV มีค่าน้อยกว่า 100 ลูกบาศก์เดซิเมตร ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี (0.68 AV +255) ถึง (0.60 AV +224)
กิโลวัตต์ — ชั่วโมง
  • AV มีค่าตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เดซิเมตรขึ้นไป ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี (0.39 AV +145) ถึง (0.34 AV +128)
กิโลวัตต์ — ชั่วโมง

(2) ตู้เย็น 2 ประตูขึ้นไป แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งด้วยมือ แบบการขจัดฝ้าน้ำแข็งกึ่งอัตโนมัติ และแบบการขจัดฝ้าน้ำแข็ง อัตโนมัติ

  • AV มีค่าน้อยกว่า 450 ลูกบาศก์เดซิเมตร ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี (0.39 AV +388) ถึง (0.34 AV +342)
กิโลวัตต์ — ชั่วโมง
  • AV มีค่าตั้งแต่ 450 ลูกบาศก์เดซิเมตร ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี (0.68 AV +388) ถึง (0.60 AV +342)
กิโลวัตต์ — ชั่วโมง (ร่างข้อ 2)

2.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าปริมาตรปรับเทียบ (ร่างข้อ 3)

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัดลมไฟฟ้าชนิดตั้งโต๊ะ ชนิดติดผนัง และชนิดตั้งพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ พัดลมไฟฟ้า ค่าประสิทธิภาพพลังงาน พัดลมไฟฟ้าชนิดตั้งโต๊ะ พัดลมไฟฟ้า ชนิดติดผนัง พัดลมไฟฟ้าชนิดตั้งพื้น และขนาดระบุ (ร่างข้อ 1)

3.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของพัดลมไฟฟ้าตามชนิดและขนาดของพัดลมไฟฟ้า ดังนี้

(1) ชนิดตั้งโต๊ะ ชนิดติดผนัง และชนิดตั้งพื้น ขนาดระบุ 300 มิลลิเมตร มีค่าประสิทธิภาพพลังงานตั้งแต่ 1.01 ถึง 1.35 ลูกบาศก์เมตรต่อนาทีต่อวัตต์

(2) ชนิดตั้งโต๊ะ ชนิดติดตั้ง และชนิดตั้งพื้น ขนาดระบุ 400 มิลลิเมตร มีค่าประสิทธิภาพพลังงานตั้งแต่ 1.21 ถึง 1.75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อวัตต์ (ร่าง ข้อ 2)

3.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของพัดลมไฟฟ้า (ร่างข้อ 3)

4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

4.1 กำหนดคำนิยามต่างๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และค่า สมรรถนะของเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ (ร่างข้อ 1)

4.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดความสามารถในการทำความเย็นที่ภาระเต็มพิกัดของเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับ อากาศที่ผู้ผลิตระบุตามตารางดังต่อไปนี้ (ร่างข้อ 2)

    ประเภทของเครื่องทำน้ำเย็น              ขนาดความสามารถในการทำความ            ค่าประสิทธิภาพพลังงาน
      สำหรับระบบปรับอากาศ                เย็นที่ภาระเต็มพิกัดของเครื่องทำน้ำ          (กิโลวัตต์ต่อตันความเย็น)

เย็นสำหรับระบบปรับอากาศ

ชนิดการระบาย         แบบของเครื่องอัด      (ตันความเย็น)
ความร้อน
ระบายความร้อน        ทุกแบบ              ทุกขนาด                                      1.12 — 0.95
ด้วยอากาศ
ระบายความร้อน        แบบลูกสูบ            ทุกขนาด                                      0.88 — 0.75
ด้วยน้ำ               แบบโรตารี่           ทุกขนาด                                      0.70 — 0.60

แบบสกรู หรือ

แบบสครอลล์

                    แบบแรงเหวี่ยง        น้อยกว่า 300                                  0.67 — 0.54
                                       ตั้งแต่ 300 ขึ้นไป                               0.61 — 0.50

4.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ (ร่างข้อ 3)

5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

5.1 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ กระจก ค่ามาตรฐานพลังงาน ค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสี อาทิตย์ และค่าการส่องผ่านของแสงธรรมชาติต่อค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ (ร่างข้อ 1)

5.2 กำหนดค่ามาตรฐานพลังงานในรูปของค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ 0.55 -0.30 และค่าการส่องผ่าน ของแสงธรรมชาติต่อค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ 1.20 — 1.60 (ร่างข้อ 2)

6. ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

6.1 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าและค่าประสิทธิภาพพลังงาน (ร่างข้อ 1)

6.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า โดยขนาดน้อยกว่า 4,000 วัตต์, ขนาดตั้งแต่ 4,000 ถึง 4,500 วัตต์, และขนาดมากกว่า 4,500 วัตต์ มีค่าประสิทธิภาพพลังงานร้อยละ 80 — 95 (ร่างข้อ 2)

6.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า (ร่างข้อ 3)

7. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

7.1 กำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ หม้อหุงข้าวไฟฟ้าและค่าประสิทธิภาพพลังงาน (ร่างข้อ 1)

7.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังไฟฟ้าของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า โดยขนาดน้อยกว่า 400,ขนาดตั้งแต่ 400 ถึง 600, ขนาดมากกว่า 600 ถึง 800,และขนาดมากกว่า 800 วัตต์ มีค่าประสิทธิภาพพลังงานร้อยละ 87 — 95 (ร่างข้อ 2)

7.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ร่างข้อ 3)

8. ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

8.1 กำหนดคำนิยามต่างๆ ที่ใช้ในกฎกระทรวงฯ คือ กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าและค่าประสิทธิภาพพลังงาน (ร่างข้อ 1)

8.2 กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดความจุของกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า โดยขนาดน้อยกว่า 2.4, ขนาดตั้งแต่ 2.4 ถึง 3.0, และขนาดมากกว่า 3.0 ลูกบาศก์เดซิเมตร มีค่าประสิทธิภาพพลังงานร้อยละ 93 - 98 (ร่างข้อ 2)

8.3 กำหนดสูตรการคำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานของกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า (ร่างข้อ 3)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ