ขอให้นำเรื่อง การเทียบการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 4, 2009 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอให้นำเรื่อง การเทียบการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535

เท่ากับการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเทียบการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เท่ากับการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 12 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า

1.ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2551 มาตรา 45 และมาตรา 46 บัญญัติให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ มี 4 ประเภท และแบ่งเป็นระดับต่างๆ ประกอบกับมาตรา 48 บัญญัติให้ ก.พ. จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่งโดยจำแนกเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงานเท่ากัน โดยประมาณเป็นระดับเดียวกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบและคุณภาพของงาน

2. การกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งดังกล่าว ส่งผลให้ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและระดับตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประเภทและระดับตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ไม่ตรงกัน ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาเลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งข้างต้นเป็นการใช้บังคับเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังมีกฎหมายเฉพาะหลายฉบับของหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้บังคับกับบุคคลหรือข้าราชการประเภทอื่นนอกจากข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งได้อ้างอิงระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานบุคคลหรือการดำเนินงาน เช่น

1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ตรี บัญญัติให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวให้อธิบดีกรมป่าไม้หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในระดับไม่ต่ำกว่าป่าไม้จังหวัดหรือหัวหน้าด่านป่าไม้ มีอำนาจเปรียบเทียบได้

2) ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นสถานที่ปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2530 ข้อ 7 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ หรือนักวิชาการป่าไม้ ออกไปทำการตรวจสภาพป่า พร้อมทั้งส่งเรื่องราวคำขอให้ป่าไม้เขต ท้องที่สั่งเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับ 5 ขึ้นไป ออกไปร่วมตรวจสอบภายใน 15 วัน นับจากวันที่จังหวัดได้รับคำขอใช้พื้นที่

3) พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

มาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน วรรคสอง บัญญัติให้นอกจากคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งแล้วพนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่าห้าปีในตำแหน่งเจ้าหน้าที่คดีพิเศษในระดับที่ อ.ก.พ. กรมสอบสวนคดีพิเศษกำหนด

(2) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้นับแต่สำเร็จการศึกษาดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามปีและดำรงตำแหน่งไม่ ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 6 หรือดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานของรัฐที่เทียบเท่าตามหลักเกณฑ์ที่ อ.ก.พ. กรมสอบสวนคดีพิเศษกำหนด

4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (3) บัญญัติให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องมีคุณสมบัติ คือ รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า

5) พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 มาตรา 6 (5) บัญญัติให้กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ต้องมีคุณสมบัติ คือ รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการบริหารในหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี

6) พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 มาตรา 7 บัญญัติให้ผู้เดินทางไปราชการซึ่งเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้

3. เพื่อให้ผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะที่ได้อ้างอิงระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ พิจารณานำหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนดไว้ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว12 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ไปปรับใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นได้ โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเป็นรายฉบับ ก.พ.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 12/2551 วันที่ 8 ธันวาคม 2551 เห็นชอบให้ ก.พ. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการกำหนดให้หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ