ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 10:44 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า ตามแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรมประจำปี 2551 กระทรวงยุติธรรมโดยคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพซึ่งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นประธาน ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ พ.ศ. .... โดยมีหลักการเกี่ยวกับ การให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนสอบสวนในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน หรือในกรณีที่ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยพนักงานอัยการอาจให้คำแนะนำ ตรวจสอบพยานหลักฐาน ถามปากคำ หรือสั่งให้ถามปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่เริ่มทำสำนวนนับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทำได้ ซึ่งจะเป็น การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎหมายมีดังนี้

1. กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพและเข้าร่วมทำสำนวนสอบสวนโดยเร็ว ซึ่งการแจ้งอาจทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาก็ได้ ในกรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (ร่างข้อ 1)

2. กำหนดให้พนักงานอัยการมีหน้าที่เข้าร่วมการทำสำนวนการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน (ร่างข้อ 2)

3. กำหนดให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการหารือกันตั้งแต่ชั้นเริ่มคดีในการทำสำนวนสอบสวน (ร่างข้อ 3)

4. กำหนดให้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน พนักงานสอบสวนสามารถทำสำนวนสอบสวนโดยไม่มีพนักงานอัยการ เข้าร่วมทำสำนวนสอบสวนได้ แต่ต้องบันทึกเหตุผลไว้ (ร่างข้อ 4)

5. กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการในการทำสำนวนสอบสวนร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ (ร่างข้อ 5)

6. กำหนดให้ในกรณีพนักงานสอบสวนจะขอหมายค้นหรือหมายจับ ให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเห็นชอบร่วมกันก่อนดำเนินการ (ร่างข้อ 6)

7. กำหนดให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทำความเห็นของตนรวมไว้ในสำนวนสอบสวนได้ หากมีความเห็นไม่ตรงกัน (ร่างข้อ 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ