คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ยังมีหลักการและรายละเอียดบางประการ รวมทั้งบทกำหนดโทษที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีมาตรการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง รวมถึงกระบวนการนำพาหรือนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ได้ผลอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงยืนยันขอให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
1. แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรี” “อธิบดีหรืออธิบดีกรมตำรวจ” “ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง” และ “กองตรวจคนเข้าเมือง” เป็น “นายกรัฐมนตรี” “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” “ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” และ “สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” ตามลำดับทุกแห่ง (ร่างมาตรา 4)
2. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง และแก้ไขชื่อตำแหน่งกรรมการต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน (ร่างมาตรา 5)
3. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการแจ้งการเพิกถอนการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร โดยทางไปรษณีย์ตอบรับอีกวิธีการหนึ่ง (ร่างมาตรา 6)
4. ปรับปรุงอัตราโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 9)
5. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำความผิดหรือกระทำการอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามมาตรา 63 และมาตรา 64 ต้องรับโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 8 เพิ่มมาตรา 64/1)
6. แก้ไขเพิ่มเติมชื่อตำแหน่งคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นปัจจุบัน (ร่างมาตรา 10)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--