ร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 11:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. .... ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงสาธารณสุขไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่าร่างพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. .... เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแตกต่างไปจากร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตรวจพิจารณาแล้วในประเด็นเกี่ยวกับการรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันและควบคุมโรคระบาดของสัตว์ทุกชนิด การประกาศกำหนดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เป็นต้น และยืนยันขอให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ยกเลิกพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดชนิดสัตว์ กวาง และหมูป่า เพิ่มเติม จำแนกประเภทระบบการเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรกรและการเลี้ยงสัตว์ เชิงธุรกิจ กำหนดหน้าที่ของเจ้าของสัตว์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ และในการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ รวมถึงกำหนดให้เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำเครื่องหมาย เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อการค้าหรือธุรกิจ (ร่างมาตรา 7 ถึง ร่างมาตรา 9)

3. กำหนดให้เพิ่มขั้นต่ำของอัตราการชดใช้แก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์เป็นสามในสี่ของราคาสัตว์หรือซากสัตว์ กำหนดหน้าที่ของเจ้าของที่ดินให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกร้องค่าใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ (ร่างมาตรา 13 ถึง ร่างมาตรา 16)

4. เพิ่มเติมเขตกันชนโรคระบาด เขตควบคุมโรคระบาด เพื่อให้มีการดำเนินการป้องกันและควบคุมให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ และวิธีการ (ร่างมาตรา 17 และร่างมาตรา 18)

5. กำหนดให้สัตวแพทย์มีอำนาจประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวในท้องที่ที่รับผิดชอบ กรณีท้องที่จังหวัดใดมีหรือสงสัยว่ามีโรคระบาดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนดเขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด รวมทั้งประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ (ร่างมาตรา 20 ถึง ร่างมาตรา 23)

6. กำหนดให้มีการขออนุญาต การออกใบอนุญาต และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์อันเกิดจากการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ และการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 24 ถึง ร่างมาตรา 37)

7. กำหนดให้มีการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อให้มาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดเป็นไปโดยรวดเร็วทันต่อสภาวการณ์ (ร่างมาตรา 38 และร่างมาตรา 39)

8. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสัตวแพทย์และสารวัตรให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด โดยให้สัตวแพทย์มีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและรองรับอำนาจหน้าที่ของสารวัตรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 40 ถึงร่างมาตรา 45)

9. กำหนดเกี่ยวกับการขายทอดตลาด การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลเพื่อให้กรมปศุสัตว์มีอำนาจในการจัดการกับสิ่งที่ยึดหรืออายัดไว้โดยการขายทอดตลาด และมีอำนาจขายทอดตลาดของกลางที่ศาลสั่งริบเพื่อนำเงินสุทธิจากการขายทอดตลอดดังกล่าวมาจ่ายเป็นเงินสินบนและเงินรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจให้การแจ้งการกระทำที่เป็นความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 46 ถึง ร่างมาตรา 51)

10.กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา การอุทธรณ์ คำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อื่นคำขอให้ได้รับความเป็นธรรมและมีโอกาสโต้แย้ง (ร่างมาตรา 52 ถึง ร่างมาตรา 54)

11.กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับสิทธิประโยชน์ที่มีตามกฎหมายเดิม เพื่อเร่งรัดการออกกฎหมายลำดับ รองเพื่อความต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมาย (ร่างมาตรา 79 ถึง ร่างมาตรา 81)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ