คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างระเบียบมีดังนี้
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) และกำหนดองค์ประกอบของ ก.ธ.จ. จำนวนกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การสรรหาคุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ (ร่างข้อ 5 — ร่างข้อ 21)
2. กำหนดให้ถือเอาจำนวนอำเภอของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ในการคิดจำนวนกรรมการใน ก.ธ.จ. (ร่างข้อ 6)
3. กำหนดให้นายอำเภอจัดประชุมผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนภาคประชาสังคมของอำเภอจำนวนหนึ่งคน (ร่างข้อ 9)
4. กำหนดให้ในกรณีผู้แทนภาคประชาสังคมมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ต้องจัดประชุมผู้แทนภาคประชาสังคม (ร่างข้อ 13 วรรคหนึ่ง)
5. กำหนดอำนาจหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ร่างข้อ 22 — ร่างข้อ 28)
6. กำหนดให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับ ก.ธ.จ. และที่ปรึกษา ก.ธ.จ. จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง (ร่างข้อ 29)
7. กำหนดให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ รวมทั้งจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกปี แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะ (ร่างข้อ 30 — ร่างข้อ 31)
8. กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดทำทะเบียนกรรมการส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง ที่มีการสรรหาหรือเปลี่ยนแปลง (ร่างข้อ 32)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--