คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงมหาดไทยเสนอว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2546 รวม 2 ฉบับ ประกอบด้วยกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 โดยกำหนดให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญของส่วนราชการซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้มีสิทธิขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เป็นให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 400,000 บาท ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวมิได้ใช้บังคับถึงข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการบำนาญส่วนท้องถิ่นมีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้เช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น ประกอบกับอัตราบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. 2548 โดยกำหนดให้จ่ายเงินบำเหน็จดำรงชีพในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท ตามวิธีการดังนี้
1. ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 200,000 บาท
2. ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 400,000 บาท แต่ถ้าผู้รับบำนาญนั้นได้ใช้สิทธิตาม 1. แล้ว ให้ขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกินส่วนที่ยังไม่ครบตามสิทธิของผู้นั้น แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 400,000 บาท
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--