โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) บางซื่อ-รังสิต ภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้ 59,888 ล้านบาท เป็นเงิน 65,148 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดกรอบวงเงิน ดังนี้

1.1 ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นเงินประมาณ 62,745 ล้านบาท ประกอบด้วยค่างานโยธา 44,779 ล้านบาท งานไฟฟ้าและเครื่องกล 13,372 ล้านบาท งานรื้อย้าย 105 ล้านบาท งานจ้างที่ปรึกษา 2,244 ล้านบาท งานเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,381 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 864 ล้านบาท

1.2 ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เป็นเงินประมาณ 2,403 ล้านบาท เพื่อให้การเดินรถสามารถเชื่อมเป็นระบบเดียวกันได้ ประกอบด้วยงานไฟฟ้าและเครื่องกล 2,162 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 84 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 157 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

2. อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการจัดหาตู้รถไฟฟ้าเพื่อใช้ในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ภายใต้กรอบวงเงิน 10,400 ล้านบาท เพื่อให้การเดินรถสามารถเชื่อมเป็นระบบเดียวกันได้ แบ่งเป็นกรอบวงเงิน ดังนี้

2.1 ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีกรอบวงเงินค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้า 6,560 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าตู้รถไฟฟ้า 6,131 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 429 ล้านบาท

2.2 ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกรอบวงเงินค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้า 3,840 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าตู้รถไฟฟ้า 3,589 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 251 ล้านบาท

3. มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม และกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ ภายใต้กรอบวงเงินข้อ 1 และ 2 ข้างต้น

1. ความเป็นมา

1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันที่สถานีรถไฟ บางซื่อ โดยในช่วงบางซื่อ-รังสิตให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเมื่อแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้ รฟท.ประกวดราคางานโยธา งานวางราง งานรื้อย้าย และงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ได้ในทันที (ไม่รวมงานระบบไฟฟ้าเครื่องกล) ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ดำเนินการประกวดราคางานในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และลงนามในสัญญาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2551 ภายใต้กรอบวงเงิน 8,748.4 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

1.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ภายใต้กรอบวงเงิน 59,888 ล้าบาท (ประกอบด้วย งานโยธา งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ไม่รวมการจัดซื้อขบวนรถ) โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น และให้ รฟท.ดำเนินการประกวดราคาได้ทันทีเมื่อแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสม และกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย และหากมีวงเงินงบประมาณเหลือจากการประกวดราคา หรือการจัดทำราคากลาง อนุมัติให้ รฟท. ต่อขยายโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงิน 3,886 ล้านบาทเป็นลำดับแรก และดำเนินการก่อสร้างสถานีวัดเสมียนนารี และสถานีหลักหก ต่อไปได้

2. การดำเนินการ

2.1 การดำเนินการด้านแหล่งเงิน

กระทรวงการคลังได้จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation : JBIC) ซึ่งปัจจุบันคือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation : JICA) โดยในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 JICA ได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่เพื่อประเมินโครงการ (Appraisal Mission) เดินทางมารวบรวมข้อมูลรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อจัดทำรายงานสรุปเสนอต่อรัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาอนุมัติการให้กู้เงิน และได้มีการลงนามบันทึกข้อหารือ (Minute of Discussions) ร่วมกันระหว่างสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) JICA และ รฟท. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งรายละเอียดสำคัญที่นำไปสู่วงเงินลงทุนดังนี้

2.2.1 JICA มีความเห็นว่า รฟท.ควรรวมค่างานการจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าในการขอกู้เงินครั้งนี้ไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีขบวนรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแก่ประชาชน อีกทั้งการออกแบบงานระบบอาณัติสัญญาณ การควบคุมการเดินรถ ระบบการจ่ายไฟฟ้า และระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้ถูกต้อง สอดคล้อง เป็นระบบที่สัมพันธ์กับผู้ผลิตตู้รถไฟฟ้า (Rolling Stock Supplier) ซึ่งเงื่อนไขนี้ JICA ได้แจ้งว่าให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นในการพิจารณาให้กู้เงินโครงการฯ

2.2.2 JICA ได้พิจารณาตัดค่างานไฟฟ้าและเครื่องกล ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ออกจากการขอกู้เงิน ซึ่งเดิมมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ในคราวอนุมัติงบประมาณและกรอบวงเงิน ช่วงบางซื่อ-รังสิต ได้รวมงานในส่วนนี้ไว้ด้วยเพื่อให้การเดินรถระหว่างบางซื่อ-รังสิต สัมพันธ์กับช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา รฟท. ได้หารือกับ JICA และสบน. ได้ข้อสรุปว่าให้ รฟท. ประกวดราคางานระบบไฟฟ้าเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้าของช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ไปพร้อมกัน โดยให้แยกใบเสนอราคาของทั้ง 2 ช่วงออกจากกัน เพื่อแยกแหล่งเงินให้ชัดเจน โดยในส่วนของช่วงบางซื่อ-รังสิต ใช้แหล่งเงินจาก JICA และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อาจใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ หรือแหล่งเงินอื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาให้ตามความเหมาะสม

2.2 การเตรียมการด้านการก่อสร้าง

2.2.1 การประกวดราคา

ปัจจุบัน รฟท. ได้จัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการปรับวงเงินลงทุนโครงการในครั้งนี้ รฟท. จะเสนอเอกสารดังกล่าวให้ JICA พิจารณา และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบขั้นตอนของระเบียบต่าง ๆ ต่อไป

2.2.2 รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าสาย สีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต รวมสถานีรถไฟบางซื่อแล้ว

2.2.3 การต่อขยายช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

มีแบบรายละเอียดพร้อมดำเนินการ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการประกวดราคาในคราวเดียวกันได้ เนื่องจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามผลการศึกษาของโครงการศึกษาและออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าชานเมืองร่วมกับรถไฟทางไกลเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล(รังสิต-สถานีชุมทางบ้านภาชี) ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

2.2.4 แผนการดำเนินงาน

รฟท. ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน ดังนี้

                       - รัฐบาลและ JICA ลงนามในประกาศให้เงินกู้           กุมภาพันธ์-มีนาคม 2552
                       - ลงนามใน Loan Agreement                      มีนาคม-เมษายน 2552
                       - ขายเอกสารประกวดราคา                         เมษายน-มิถุนายน 2552
                       - ยื่นข้อเสนอประกวดราคา                          สิงหาคม-ตุลาคม 2552
                       - คณะกรรมการคัดเลือกผู้รับจ้างงานโยธา               พฤศจิกายน 2552-เมษายน 2553

คณะกรรมการ รฟท. และ JICA ให้ความเห็นชอบ

                       - อัยการสูงสุดให้ความเห็นชอบร่างสัญญาว่าจ้าง           พฤษภาคม 2553
                       - คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ                       มิถุนายน 2553
  • ผลการคัดเลือกผู้รับจ้างงาน
                       - ลงนามสัญญาว่าจ้าง                              กรกฎาคม 2553
                       - เริ่มงานก่อสร้าง                                กันยายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ