กรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 13:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. อนุมัติกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบโดยด่วนต่อไป

2. มอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเงินกู้ดังกล่าว ก่อนที่จะนำเสนอร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 252 โดยเชิญผู้แทนของหน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มาประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว โดยมีข้อสรุปดังนี้

1.1 ประเด็นความหมายของ “หนังสือสัญญา”

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ว่า หมายถึง ความตกลงทุกประเภทที่ประเทศไทยทำขึ้นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ โดยหนังสือสัญญาดังกล่าวต้องมีลักษณะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเป็นหนังสือ และเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาเงินกู้ที่รัฐบาลไทยจัดทำกับธนาคารโลกและ ADB โดยแหล่งเงินกู้ได้กำหนดให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและให้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศบังคับ ดังนั้น จึงถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนสัญญาเงินกู้ที่ทำกับ JICA แหล่งเงินกู้ได้กำหนดให้ใช้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกฎหมายภายในรัฐ (Governing Law) ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น สัญญาเงินกู้ที่รัฐบาลไทยจัดทำกับ JICA จึงไม่ ถือว่าเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากเป็นการ ให้กู้ร่วม (co-financing) กับธนาคารโลก และ ADB ดังนั้น จึงอาจถือเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญฯ

1.2 ประเด็นการผูกพันกับงบประมาณของประเทศ

ที่ประชุมส่วนหนึ่งเห็นว่า การกู้เงินเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งมีพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วแต่ความเห็นอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า การจัดทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารโลกและ ADB จะต้องมีการขอตั้งงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในอนาคต จึงอาจถือเป็นหนังสือสัญญามีผลผูกพันต่องบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อความรอบคอบในการดำเนินงาน จึงเห็นควรเสนอกรอบการเจรจากู้เงินร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงการคลังในนามรัฐบาลไทยจะดำเนินการเจรจาและลงนามกับแหล่งเงินกู้ทั้ง 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเซีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ

2. ในส่วนของขั้นตอนการนำเสนอกรอบการเจรจากู้เงิน และสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ นั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภารวม 2 ครั้ง คือ

2.1 นำเสนอกรอบการเจรจากู้เงินให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหลังจากที่รัฐสภาอนุมัติจึงจะเริ่มดำเนินการเจรจากับแหล่งเงินกู้ทั้ง 3 แหล่ง

2.2 ก่อนลงนามในสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องคณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ

2.3 สำหรับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกู้เงินตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ให้แล้วเสร็จนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนร่างหลักเกณฑ์ตามที่คณะรัฐมนตรีขอให้พิจารณาและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ในโอกาสแรก

สาระสำคัญของกรอบการเจรจากู้เงินฯ

1. วัตถุประสงค์ของการกู้เงิน

เพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนภาครัฐที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว หรือเป็นการกู้เงินเมื่อมีความจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยการสนับสนุนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขยายสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการภาคการผลิตอื่นๆ รวมถึงการให้การค้ำประกันสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

2. กรอบวงเงินกู้

กำหนดกรอบวงเงินที่จะขอกู้เงินประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 70,000 ล้านบาท โดยจะขอกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

3. กรอบต้นทุนและระยะเวลาในการกู้เงิน

กำหนดกรอบในการกู้เงินโดยจะเจรจาให้ได้ต้นทุนเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาด และมีระยะเวลาการกู้เงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคต โดยมีระยะเงินกู้เฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี นอกจากนี้ ในการพิจารณาต้นทุนการกู้เงินจะใช้ต้นทุนที่ได้ทำการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาท (Swap rate) แล้วเปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลด้วย

4. กรอบในการจัดซื้อจัดจ้าง

จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้กฎระเบียบของราชการไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินโครงการและสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อสนับสนุนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีเพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เห็นควรพิจารณาให้แหล่งเงินกู้ทั้ง 3 แหล่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินโครงการภายหลังการจัดซื้อจัดจ้างได้ในลักษณะ Post Audit

5. กรอบระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินกู้

กำหนดกรอบและระยะการในการเบิกจ่ายเงินกู้ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการของรัฐบาลซึ่งมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 3 ปี โดยจะเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่มีประโยชน์ต่อรัฐบาลไทย

6. กรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน

กำหนดกรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน โดยให้มีการตรวจสอบและกำกับติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแหล่งเงินกู้ทั้ง 3 แหล่ง และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายเงินของทุกโครงการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ