ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 14:14 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีข้อสังเกต 2 ข้อ ดังนี้

1. มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ไปเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (One Start & One Stop Service Center)

2. มอบให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาความเหมาะสมชื่อการจัดงานเฉลิมฉลอง 777 ปีของประเทศไทยในปี 2558

ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีสาระสำคัญดังนี้

1. แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.1 แนวทางดำเนินการในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่

1) ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ หลังผ่านพ้นวิกฤตการเมืองและเหตุการณ์ปิดสนามบิน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาโดยเร็ว ประกอบด้วย

  • จัดทำโครงการฟื้นฟูภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทย โดยดำเนินการร่วมกับบริษัทสื่อสารมวลชนมืออาชีพระดับโลก โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประมาณ 400 ล้านบาท ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง “คณะกรรมการฟื้นฟูภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” เป็นกลไกรับผิดชอบดำเนินการ
  • จัดประชุม/สัมมนาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของโลก (CEO Forum) หรือการประชุมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Economic Forum) โดยอาจดำเนินการร่วมกับสื่อสารมวลชนระดับโลก เช่น CNN Forbes หรือ CNBC เป็นต้น
  • จัดตั้งศูนย์ประสานเพื่อเร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (One Start & One Stop Service Center) เพื่อให้ข้อมูล คำปรึกษา และขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

2) ควบคุมความเสียหายจากวิกฤตให้อยู่ในวงจำกัด (Damage Control) และเร่งช่วยเหลือภาคการผลิตจริง (Real Sector) ทั้งการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ได้ โดย

  • จัดทำระบบป้องกันรองรับกรณีเกิดปัญหาและเยียวยา โดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนจัดทำ Business Continuity Plan (BCP) และมีการซักซ้อมฉุกเฉินเป็นระยะ ๆ
  • ควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยให้มีราคาลดลง หรืออย่างน้อยไม่ให้มีการขึ้นราคาในช่วงวิกฤตินี้ และให้ตั้ง “คณะกรรมการ” เพื่อกำกับดูแลราคาให้มีความเหมาะสม
  • เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสำคัญของนักลงทุนที่ค้างมานานและได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยติดตามและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปแล้วให้ลุล่วงโดยเร็ว เช่น การตีความเรื่องสิทธิตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี การคำนวณการใช้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การปรับปรุงระบบสินบนนำจับและวิธีการตรวจจับ การกำหนดมาตรการเตรียมพร้อมรับปัญหาการประท้วงของแรงงาน และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นต้น
  • การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs และธุรกิจส่งออก โดย (1) ขยายวงเงินให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) และ (2) สนับสนุนให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ สามารถรับ L/C และประกันการส่งออกที่ไปยังทุกประเทศ
  • กำหนดมาตรการรองรับการเลิกจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก และมาตรการจัดหางานให้บัณฑิตจบใหม่
  • เปิดเว็บไซต์แสดงข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี จำนวน 1.16 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความคืบหน้า วิธีการใช้จ่าย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ได้รับประโยชน์และควรมีระบบ รับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว

3) กระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมสูงที่สุด เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดย

  • ผลักดันและเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โครงการเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง และการจัดตั้ง Matching Funding ระหว่างรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
  • ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
  • แก้ไขกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน (4) จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ
  • กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น

1.2 ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตควรปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งมีแนวทางสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

1. Going Green พัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด และคำนึงถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

2. Going Back to Basic พัฒนาเศรษฐกิจจากพื้นฐานความเป็นไทย และจุดแข็งของประเทศไทยที่มีทั้งเรื่องทำเลที่ตั้ง ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาว

มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคตของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) ร่วมกันจัดทำแผนการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ

3. มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) พิจารณาในรายละเอียดของแนวทางการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเร่งรัดและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (One Start & One Stop Service Center) โดยให้มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นผู้ประสานงาน โดยให้พิจารณาเรื่องการจัดทำ Web Portal ของศูนย์ดังกล่าวด้วย

4. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปพิจารณาความเหมาะสมของหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับมาตรการจัดทำระบบป้องกันรองรับกรณีเกิดปัญหาและเยียวยา รวมทั้งจัดทำข้อมูลเรื่องการลดค่าใช้จ่ายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าน้ำดิบ และค่าไฟฟ้า

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาการแก้ไขปัญหาการลงทุน เช่น กระบวนการอุทธรณ์ภาษีอากร และสินบนนำจับ เป็นต้น ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

6. มอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำกรอบแนวคิดให้ประชาสัมพันธ์การจัดงานเฉลิมฉลอง 777 ปีของประเทศไทยในปี 2558

7. มอบหมายกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง Matching Fund ของรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยศึกษาตัวอย่างการดำเนินการดังกล่าวในต่างประเทศ กฎหมาย เงื่อนไขและกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยต่อไป

8. มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) รับผิดชอบการผลักดันและเร่งรัดการลงทุนในโครงการที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรากฐานสำหรับอนาคต

9. มอบหมายให้ สศช. พิจารณาแนวทาง Going Green หรือการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Going Back to Basic หรือการพัฒนาเศรษฐกิจจากพื้นฐานความเป็นไทยและจุดแข็งของไทย ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

2. ข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมเรื่องมาตรการเพื่อแก้ไขผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

2.1 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย (1) การกำหนดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ เช่น สนับสนุนสินเชื่อ ผ่อนปรนการตรวจสอบข้อมูลเครดิต ลดภาษีสรรพสามิตร้อยละ 3 สำหรับยานยนต์ทุกประเภท หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าใช้จ่ายซื้อรถยนต์ใหม่ ไม่เกินร้อยละ 50,000 บาท เป็นต้น (2) การแก้ไขบรรเทาปัญหาการว่างงาน เช่น กำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อรถโดยสาร 4,000 คัน โดยให้ประกอบตัวถึงภายในประเทศ รวมทั้งชิ้นส่วนที่ประกอบตัวถังที่ผลิตในประเทศ สนับสนุนงบประมาณ 800 ล้านบาท เพื่ออบรมพนักงาน 40,000 คน คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 4 เดือน (3) การปรับปรุงผลิตภาพการผลิต สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 25,565 ล้านบาท ในโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น โครงการ Productivity Fund และโครงการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น และ (4) จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อดูแลภาพรวมด้านนโยบายและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ติดตามการดำเนินงานและประสานงานระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

2.2 มาตรการระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย (1) ลดอุปสรรคการทำธุรกิจ โดยปรับปรุงนโยบายและการดำเนินงานที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้แก่ นโยบายพลังงาน โดยคำนึงถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนโดยรวม นโยบายด้านภาษีและแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการตีความต่างกันระหว่างหน่วยงาน (2) สนับสนุนการส่งออก โดยแก้ปัญหาอุปสรรคการส่งออก และเร่งรัดเจรจาเขตการค้าเสรี เช่น อาเซียน-ยุโรป ในผลิตภัณฑ์ยานยนต์ทุกประเภทที่ไทยมีศักยภาพ และ (3) ติดตามเร่งรัดแก้ไขกฎหมายกำหนดน้ำหนักรถบรรทุกส่วนบุคคล และการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์

มติคณะกรรมการ รศก.

1. รับทราบข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมเรื่องมาตรการเพื่อแก้ไขผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์อันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยรัฐบาลจะนำข้อเสนอมาตรการระยะกลางและระยะยาวของภาคเอกชน ไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงนโยบาย และมาตรการของภาครัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่ประกอบด้วย 3 เรื่องนั้น มีมติ ดังนี้

1) เรื่องแรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ให้คณะกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพ ผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธานรับไปพิจารณา

2) เรื่องการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนโดยลดภาษีสรรพสามิต รัฐบาลยังไม่เห็นด้วย

3) เรื่องสินเชื่อ เห็นควรให้ภาคเอกชนและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำข้อมูลการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ของประชาชน เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งหนึ่ง

3. ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐสำรวจสภาพรถยนต์ที่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะสั้น

3. กรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

3.1 สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการการ รศก. ครั้งที่ 4/2552 รับทราบกระบวนการและขั้นตอนการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเห็นควรให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงการคลังได้หารือกับหน่วยงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่ารัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้บัญญัติความหมายของคำว่าหนังสือสัญญาไว้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 11/2542 33/2543 และ 6-7/2551 ดังนี้

1) สัญญาเงินกู้ที่รัฐบาลไทยจัดทำกับธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) จึงถือเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ

2) สัญญาเงินกู้ที่รัฐบาลไทยจัดทำกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ไม่ถือว่าเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ อย่างไรก็ตาม เพื่อความละเอียดรอบคอบในการดำเนินงาน กระทรวงการคลังเห็นควรเสนอกรอบการเจรจา กู้เงิน และร่างสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้อง กับแหล่งเงินกู้ทั้ง 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ

3.2 กระทรวงการคลังจะนำเสนอกรอบเงินกู้ทั้ง3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และ JICA ต่อหน้ารัฐสภาในเดือนมีนาคม 2552 คาดว่ารัฐสภาจะอนุมัติกรอบการเจรจาฯ ในเดือนเมษายน 2552 หลังจากนั้นจะเจรจาสัญญาเงินกู้กับธนาคารโลกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2552 และจะนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาและลงนามสัญญากับธนาคารโลกในเดือนมิถุนายน 2552 และเบิกจ่ายได้ในเดือนกรกฎาคม 2552 สำหรับร่างสัญญาเงินกู้ของธนาคารพัฒนาเอเชีย และ JICA คาดว่าจะเจรจากู้เงินในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2552 และนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาและลงนามในเดือนสิงหาคม 2552 และเบิกจ่ายได้ในเดือนกันยายน 2552 มติคณะกรรมการ รศก. รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง นำเสนอกรอบการเจรจากู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานและกรอบความริเริ่มเชียงใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

4. เรื่องอื่นๆ

4.1 การจัดงานแสดงสินค้าเกษตรไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) วัตถุประสงค์ของการจัดงาน ได้แก่ (1) เพื่อสร้างโอกาสในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยไปสู่ตลาดจีน (2) เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร ตลอดจนยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปที่ดีมีคุณภาพของไทยในตลาดจีน(3) เพื่อขยายช่องทางการซื้อขายสินค้าเกษตรไทยไปสู่ประเทศจีน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายได้มีการเจรจาและแลกเปลี่ยนทางการค้า และ (4) เพื่อเป็นการกระชับและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านการเกษตรระหว่างไทยและจีน

2) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) ผู้ผลิตและส่งออกผลไม้สด สินค้าเกษตรแปรรูป ข้าวและ มันสำปะหลัง (2) ผู้ประกอบการ นักธุรกิจด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งจากประเทศไทยและในสาธารณรัฐประชาชนจีน และ (3) ผู้บริโภคชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองเป้าหมาย 5 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน ต้าเหลียน เสิ่นหยาง และซีอัน

3) ระยะเวลาการจัดงาน ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2552

มติคณะกรรมการ รศก.

มอบหมายงานให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับสำนักงบประมาณในเรื่องแหล่งเงินงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่อไป

4.2 การจัดงาน “ไทยรวมพลัง กู้เศรษฐกิจชาติ”

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอเรื่อง การจัดงาน “ไทยรวมพลัง กู้เศรษฐกิจชาติ” โดยได้บูรณาการงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขออนุมัติเพิ่มเติมวงเงินจำนวน 90 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1) วัตถุประสงค์ของการจัดงาน (1) เพื่อให้ประชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อเดือนนำเงินจำนวน 2,000 บาทที่ได้รับจากรัฐบาลมาใช้จับจ่ายใช้สอยสินค้าคุณภาพดี ราคาประหยัด 2) เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการส่งออกที่ประสบภาวะเศรษฐกิจให้นำสินค้าที่คงเหลือในสต็อกมาจำหน่ายในราคาพิเศษ (3) เพื่อลดภาระค่า ครองชีพ โดยสนับสนุนให้คนไทยบริโภคสินค้าและบริการของไทย

2) กิจการภายในงาน แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ โซน 1 รวมพลัง ต่อยอดชีวิตไทย โซน 2 รวมพลัง อุดหนุนสินค้าและบริการไทย โซน 3 รวมพลัง แบ่งเบาปัญหาปากท้องไทย และโซน 4 รวมพลัง เที่ยวไทย

มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปหารือกับสำนักงบประมาณในเรื่องงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่อไป

4.3 โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552

กระทรวงการคลัง ได้เสนอขอขยายขอบเขตโครงการการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2551/2552 เพื่อให้ครอบคลุมผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 3 ชนิด เป็น 5 ชนิด สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญ

1) ขออนุมัติการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มเติมอีก 2 ชนิด ได้แก่ ยางพาราและน้ำมันปาล์ม จากเดิมที่ได้อนุมัติไว้แล้ว 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ตลอดจนขยายระยะเวลาการเบิกรับเงินกู้ให้สอดรับกับการดำเนินโครงการ ภายใต้การกู้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 110,000 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ย

2) ให้กระทรวงการคลังสามารถพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินและ การค้ำประกัน ตลอดจนพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่มีความเหมาะสมตามที่กระทรวงการคลังเห็นสมควรได้

3) ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรายงานการเบิกจ่ายเงินกู้และยอดหนี้คงค้างให้กระทรวงการคลังทราบทุกเดือน และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการระบายและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรทั้ง 5 ชนิดโดยเร็ว

4) ให้กระทรวงพาณิชย์รายงานผลการจำหน่ายสินค้าและข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องทุกครั้งที่มีการดำเนินการให้กระทรวงการคลังทราบด้วย และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อไป

มติคณะกรรมการ รศก.

1) ยืนยันการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มเติมรวมเป็น 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และน้ำมันปาล์มดิบ ตลอดจนขยายระยะเวลาการเบิกรับเงินกู้ให้สอดรับกับการดำเนินโครงการ โดยการกู้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 110,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ย ทั้งนี้หากวงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอก็สามารถดำเนินงานเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 13,580.75 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้แล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการโครงการนั้น เห็นควรให้กระทรวงการคลัง รับไปพิจารณาและหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) และรับความเห็นไปปรับปรุงแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

2) มอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินและการค้ำประกัน ตลอดจนพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่มีความเหมาะสมตามที่เห็นสมควร

3) มอบหมายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรายงานการเบิกจ่ายเงินกู้และยอดหนี้คงค้างให้กระทรวงการคลังทราบทุกเดือน และให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการระบายและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรทั้ง 5 ชนิดโดยเร็ว

4) ให้กระทรวงพาณิชย์รายงานผลการจำหน่ายสินค้าและข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องทุกครั้งที่มีการดำเนินการให้กระทรวงการคลังทราบด้วย และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว กระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ