การแก้ไขปัญหานมทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขปัญหานมทั้งระบบ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้แก้ไขปัญหานมทั้งระบบ ตามผลการหารือของรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 สรุปได้ดังนี้

1) การบริหารจัดการด้านคุณภาพ

1.1 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบมาตรฐานโรงงาน ใบอนุญาตประกอบการให้แล้วเสร็จ และรายงานผลให้ทราบก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 มีนาคม 2552

1.2 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบคุณภาพโรงงานผลิตนม ให้แล้วเสร็จและรายงานผลให้ทราบก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มีนาคม 2552

1.3 การผลิตนมพาสเจอร์ไรส์จะมีการสูญเสีย เนื่องจากปัญหารอยรั่วของถุงนมและการขนส่งถึงปลายทาง จะมีการสูญเสียประมาณร้อยละ 2 เห็นควรให้เปลี่ยนการผลิตนมโรงเรียน โดยเพิ่มสัดส่วนเป็น นมกล่อง ยู.เอช.ที ให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหานมเน่าเสีย

2) การบริหารจัดการด้านผลิตนมโรงเรียน ให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต และทำแผนในการจัดตั้งโรงงานนมผง เพื่อเตรียมการผลิตนมโรงเรียน และรองรับการแก้ปัญหานมล้นตลาดในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน อ.ส.ค. สามารถผลิตนมโรงเรียน (ยู.เอช.ที) ได้เพียง 200 ตัน/วัน

3) ยกเลิกระบบการกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) ให้ทยอยปรับเปลี่ยนนมพาสเจอร์ไรส์เป็นนมกล่อง ยู.เอช.ที ให้มากขึ้น ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิต พร้อมทั้งให้พิจารณาข้อดีข้อเสียของระบบการกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) ทั้งนี้ กำหนดให้การจัดซื้อนมพาสเจอร์ไรส์ อยู่ในรัศมีจากโรงเรียนถึงโรงงานไม่เกิน 100 กิโลเมตร

4) การตั้งงบประมาณ

4.1 สำนักงบประมาณได้จัดตั้งงบประมาณปี 2552 สำหรับนักเรียนก่อนวัยเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 8,436.90 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาน้ำนมดิบที่ 14.50 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นเมื่อราคาน้ำนมดิบอยู่ที่ 16.50 บาท/กิโลกรัม และเปลี่ยนให้ดื่มนมกล่อง ยู.เอช.ที ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 604 ล้านบาท (สมมติฐานสัดส่วนที่ 50:50) จึงจะทำให้นักเรียน 5.3 ล้านคน ได้ดื่มนมครบถ้วนในช่วงเปิดเทอม (230 วัน) หากปรับใช้นมกล่อง ยู.เอช.ที ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งหมด จะใช้งบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 1,330 ล้านบาท

4.2 ตามมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1.8 ล้านคน เข้าโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพิ่มเติม นั้น หากผลิตเป็นนมกล่อง ยู.เอช.ที โดยให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 1,975 ล้านบาท

4.3 ปรับจำนวนวันการดื่มนมในโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน จาก 230 วัน เป็น 260 วันต่อปีการศึกษา (52 สัปดาห์ X 5 วัน) ดังนั้น โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทั้งหมดใช้งบประมาณเพิ่มเติมประมาณ 2,579 ล้านบาท

2. อนุมัติงบประมาณอุดหนุน (งบกลาง) ประจำปี 2552 เพื่อจัดซื้อนมพร้อมดื่มให้เด็กนักเรียนก่อนวัยเรียน ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นเวลา 147 วัน จำนวน 604.31 ล้านบาท และจัดสรรงบเพิ่มเติม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึง 6 เป็นเวลา 147 วัน จำนวนเงิน 1,974.87 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,579.18 ล้านบาท

3. ให้จัดสรรเงินงบประมาณดังกล่าวเพื่อจัดซื้อนม โดยจัดสรรให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เพื่อจัดซื้อนม ยู.เอช.ที จำนวน 67.62 ล้านกล่อง วงเงิน 510.54 ล้านบาท ส่งมอบให้กับโรงเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 ถึง 6 โดยตรงและนำหลักฐานการส่งมอบและรับมอบมาทำการเบิกจ่ายกับกรมบัญชีกลางต่อไป ตามแผนการส่งมอบ ที่กำหนดไว้แล้ว ดังกล่าวข้างต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ