นโยบายการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 15:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอนโยบายการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ ในประเด็น “การมีส่วนร่วมของประชาชน” และ “การควบคุมการโฆษณาและ ขายตรง” เพื่อมอบให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ รวม 3 ประการ คือ

1. เสนอแนะให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณากำหนด “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย” เป็นหลักการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทุกประเภท

2. เสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร พิจารณากำหนดข้อความเพิ่มเติมในขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เพื่อควบคุมและกำกับดูแลวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร ดังต่อไปนี้

“ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาก่อนประกาศกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณาอนุญาต และให้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียไป

ประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และให้เปิดเผยคำชี้แจงและเหตุผลประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย”

3. เสนอแนะให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณากำหนดแนวทางควบคุมการโฆษณาและขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้

3.1 มาตรการระยะสั้น

  • ร่วมกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามบทบัญญัติในมาตรา 14 และ 15 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และควบคุมการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในจำนวนที่เหมาะสม หรือ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลกระทบจากการโฆษณาและขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อรายงานให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทราบ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางกำหนดมาตรการควบคุม การโฆษณาและขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เหมาะสมต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต้องมีการสื่อสารข้อมูลการติดตามประเมินผลกระทบกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ

3.2 มาตรการระยะยาว

  • เสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยยกเลิกความในมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
พ.ศ. 2535 และเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 51 ดังนี้

“ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการแต่งตั้ง และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลากตามมาตรา 20 (1) เป็นสินค้าที่มีการควบคุมฉลากโดยคณะกรรมการควบคุมฉลากตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคโดยอนุโลม” และเพิ่มข้อความ “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545”

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ