สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสี่/รายปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 16:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะสังคมไตรมาสสี่/รายปี 2551 สาระสำคัญประกอบด้วย ภาวะสังคมไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพคน ด้านความมั่งคงทางสังคม ด้านความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคนและด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องเด่นประจำฉบับ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2551

มิติด้านคุณภาพคน : การจ้างงานโดยรวมในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการผลิตในช่วงครึ่งแรกของปียังอยู่ในเกณฑ์ดี และภาคเกษตรเป็นส่วนสำคัญช่วยดูดซับแรงงานจากภาคอื่น แต่ผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรค่อนข้างต่ำจำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริม เช่น การลดต้นทุนการผลิต พัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีทางการเกษตร การบริหารจัดการด้านการเงินและการตลาด ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 6.5 ในไตรมาสสามเป็นร้อยละ 3.8 ในไตรมาสสี่ปี 2551 ทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.3 เทียบกับร้อยละ 1.1 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 และปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2552 คาดว่าจะมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5-3.5 หรือมีผู้ว่างงานประมาณ 9 แสน — 1.3 ล้านคน รัฐจึงดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาด้วยการเพิ่มโอกาสในการทำงาน ขยายการจ้างงานในโครงการภาครัฐ จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน ควบคู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายในประเทศ ช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองโดยสนับสนุนการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี อย่างไรก็ตาม เด็กที่ครอบครัวยากจนและเด็กด้อยโอกาสมีความเสี่ยงจะละทิ้งการเรียน จึงยังจำเป็นต้องมีทุนการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ ด้านสุขภาพ ในช่วงไตรมาสสี่พบผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจสูงขึ้น เนื่องจากมีฝนตกชุกในช่วงปลายฤดูและสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าทุกปี นอกจากนี้พฤติกรรมและแบบแผนการดำรงชีวิตส่งผลให้การเจ็บป่วยด้วยโรคป้องกันได้เพิ่มขึ้น โดยอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็ง หัวใจ ความดันโลหิต และโรคเบาหวาน 4 โรครวมกันมีภาวะการณ์สูงเกือบ 6 เท่าของผู้ป่วย โรคเฝ้าระวังในปี 2551 ส่วนโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพพบมากขึ้นในผู้ประกอบอาชีพภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเกษตรกรยังป่วยด้วยโรคจากพิษสารเคมีทางการเกษตรจำนวนมาก

มิติด้านความมั่นคงทางสังคม : ผู้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้มีความมั่นคงทางสังคมมากกว่าผู้ถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 โดยได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และได้ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ในไตรมาสสี่กองทุนได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรวม 620.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ 148 และคาดว่าการจ่ายเงินทดแทนจะสูงขึ้นมากในปี 2552 ซึ่งเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่ระดับ 36,995 ล้านบาทน่าจะรับภาระดังกล่าวได้ ขณะที่ แรงงานนอกระบบประกันสังคมยังไม่มีระบบการคุ้มครองที่ชัดเจน คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สินเพิ่มขึ้น คดีโจรกรรมรถจักรยานยนต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 77.5 ยี่ห้อหรือรุ่นของรถที่ตลาดเพื่อนบ้านต้องการเป็นตัวแปรสำคัญต่อการโจรกรรม อุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายลดลง เป็นผลจากการดำเนินมาตรการคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่อย่างเข้มงวด การบังคับใช้อุปกรณ์นิรภัย และการตั้งจุดตรวจรวม ด้านคดียาเสพติด มีคดีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา การกระทำของเด็กและเยาวชนลดลงเกือบทุกประเภท ยกเว้นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสกับผู้ที่ต้องการหางานทำในรอบปีมีแรงงานถูกหลอกลวง 1,183 คน มูลค่าความเสียหาย 62 ล้านบาท

มิติด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคน : ค่าใช้จ่ายการบริโภคแอลกอฮอล์และยาสูบของครัวเรือนลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนระมัดระวังลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากการใช้กฎหมายใหม่ที่ให้สิทธิและอำนวยความสะดวกในหลายด้าน แต่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการขายตรงและการตลาดแบบตรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากไม่ได้รับผลตอบแทนตามแผนไม่รับคืนสินค้า และเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ด้านพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนนิยมแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรงมากขึ้น สาเหตุจากการถูกกระทำหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เห็นความรุนแรง รวมทั้งการได้รับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ และการเล่นเกม ทำให้ซึมซับและเลียนแบบ

มิติด้านสิ่งแวดล้อม : สภาพอากาศที่แปรปรวนเนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้มีฝนตกชุกและเกิดอุทกภัยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ภาคใต้ได้รับความเสียหายมากในไตรมาสสี่ ขณะที่ หลายพื้นที่ของประเทศประสบภัยหนาว อุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ การป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในปี 2551 คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สาเหตุมักมาจากน้ำทิ้งในชุมชน ชนสถานการณ์ไฟป่า ลดลงในปี 2551 เพราะปรากฎการณ์ ลานินญ่า ทำให้มีฝนตกกระจ่ายในช่วงฤดูแล้ง แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นในปี 2552 เนื่องจากมีการสำรวจพบปริมาณเชื้อเพลิงสะสมในป่าเบญจพรรณสูงขึ้นถึงร้อยละ 47 และมนุษย์ยังคงเป็นต้นเหตุสำคัญของ ไฟป่า

เรื่องเด่นประจำฉบับ : ตกงาน : ปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ไตรมาสสี่ปี 2551 มีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจาก 29,915 คน ในปี 2550 เป็น 55,549 คน ในปี 2551 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2552 จากการสำรวจแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 2,022 คน ใน 9 จังหวัดที่มีการเลิกจ้างจำนวนมาก กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 21-30 ปี จบระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 45.3 มีทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวัน ผลการสำรวจพบว่า ครอบครัวผู้ถูกเลิกจ้างมีรายได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 หลังถูกเลิกจ้าง และมีครอบครัวที่ไม่มีรายได้เลยถึงร้อยละ 12.4 นอกจากมีปัญหารายได้แล้ว ยังมีภาวะเครียดและปัญหาสุขภาพจิตทั้งตนเองและครอบครัว บุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พ่อ-แม่ บุตร

ผู้ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่นำเงินชดเชยและเงินออมมาใช้จ่ายและคาดว่าจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนได้ปรับตัวโดยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การรับจ้างชั่วคราวทำงานอิสระ กู้ยืมหรือใช้บัตรเครดิต ร้อยละ 42.5 ของแรงงานต่างถิ่นที่ถูกเลิกจ้างต้องการกลับภูมิลำเนาเดิม ประมาณครึ่งหนึ่งต้องการหาอาชีพใหม่ในท้องถิ่นและช่วยครอบครัวทำเกษตร

ผู้ถูกเลิกจ้างที่ไม่ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง เพราะเป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือถูกบีบให้ลาออกและร้อยละ 30.8 ของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงินชดเชย ได้รับในอัตราที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายขณะที่ผู้เลิกจ้างร้อยละ 78.8 อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับเงินทดแทนการว่างงาน มีร้อยละ 10.2 ได้รับเงินแล้วบางส่วนแล้ว

มาตรการบรรเทาผลกระทบของรัฐบาล ส่วนใหญ่ตรงกับความต้องการและสามารถบรรเทาผลกระทบได้แต่ยังคงมีผู้ถูกเลิกจ้างที่เข้าไม่ถึงสิทธิและมาตรการของรัฐ รัฐจึงควรให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิ/ขั้นตอน ปรับปรุงการดำเนินงานให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ฝึกอบรมทักษะแรงงานที่ตรงกับความต้องการ ตลอดจนสนับสนุนการรวมตัวของกลุ่มลูกจ้างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือกันเพื่อป้องกันการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง รวมทั้ง เร่งรัดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่แรงงานที่อยู่นอกระบบให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ