คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและจังหวัดสิงห์บุรี ในวันที่ 7 มีนาคม 2552 สรุปได้ดังนี้
1. สถานที่ตรวจสถานการณ์
1.1 พื้นที่ ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ได้ตรวจสถานการณ์ 3 จุด
(1) สำนักชลประทานที่ 12 สรุปแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้ง ปี 2552 ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการใน จ.ชัยนาท
(2) บริเวณสันเขื่อนเจ้าพระยา ตรวจสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและระบบควบคุมเขื่อนเจ้าพระยาและระบบโทรมาตร ณ อาคารควบคุม (Control House) เขื่อนเจ้าพระยา
(3) พื้นที่ทำการเกษตร พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ รับฟังบรรยายสรุปการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (พืชไร่ พืชผัก)
1.2 พื้นที่ จ.สิงห์บุรี
(1) พื้นที่ทำการเกษตรบริเวณ ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี พบปะหัวหน้าส่วนราชการและเกษตรกร ฟังบรรยายสรุปการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ถั่วลิสง)
(2) พื้นที่ทำการเกษตรบริเวณสถานีสูบน้ำคลองยายห่วง อ.ค่ายบางระจัน พบปะเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ และตรวจการสูบน้ำจากแม่น้ำน้อย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทำการเกษตรที่อยู่ปลายคลอง รวมพื้นที่ 6,435 ไร่ ที่ ต.โพสังโฆ อ.ค่ายบางระจัน ต.โพประจักร ต.ถอนสมอ อ.ท่าช้าง
2. สถานการณ์การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2551/52 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2.1 ปริมาณน้ำต้นทุน ในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2551/52 มีปริมาณน้ำต้นทุน 9,550 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นน้ำจาก
(1) อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 8,000 ล้าน ลบ.ม.
(2) อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 550 ล้าน ลบ.ม.
(3) น้ำที่ผันจากลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.
2.2 เป้าหมายกิจกรรมการใช้น้ำ น้ำต้นทุนจำนวน 9,550 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการวางแผนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำดังนี้
(1) การใช้น้ำในพื้นที่ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ขึ้นไป 6 จังหวัด 2,800 ล้าน ลบ.ม.
(2) การใช้น้ำในเขตโครงการเจ้าพระยาใหญ่ 15 จังหวัด 4,870 ล้าน ลบ.ม.
(3) การประปานครหลวง 750 ล้าน ลบ.ม.
(4) การผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีน 1,130 ล้าน ลบ.ม.
3. สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน ปี 2551/52 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
3.1 พื้นที่เป้าหมาย กรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ชลประทาน 7.07 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 5.83 ล้านไร่ (83%) ไม้ผล— ไม้ยืนต้น 0.47 ล้านไร่ (7%) บ่อปลา-บ่อกุ้ง 0.30 ล้านไร่ (4%) อ้อย 0.24 ล้านไร่ (3%) พืชไร่-พืชผัก 0.06 ล้านไร่ (1%) และอื่นๆ 0.16 ล้านไร่ (2%)
3.2 พื้นที่ปลูกจริง จากการสำรวจ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2552 พบว่าเกษตรกรมีการปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ รวม 6.92 ล้านไร่ (98% ของเป้าหมาย) โดยเป็นพื้นที่นาปรัง 5.86 ล้านไร่ (101% ของเป้าหมาย) พืชไร่-พืชผัก 0.07 ล้านไร่ (117% ของเป้าหมาย) และพืชอื่น ๆ 0.99 ล้านไร่ (84% ของเป้าหมาย) สำหรับ จ.ชัยนาท ได้มีการปลูกข้าวนาปรัง 611,231 ไร่ จากเป้าหมาย 643,900 ไร่ จ.สิงห์บุรี ปลูกข้าวนาปรัง 359,616 ไร่ จากเป้าหมาย 363,565 ไร่ คิดเป็น 95% และ 99% ของพื้นที่เป้าหมาย ตามลำดับ
4. การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2551/52 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
4.1 การระบายน้ำจากเขื่อน ได้มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 51 — 5 มี.ค. 52 จำนวน 5,986 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75% ของน้ำต้นทุน
4.2 การให้ความช่วยเหลือเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ 449 เครื่อง เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้นำไปช่วยเหลือเกษตรกรในเขต จ.ชัยนาทแล้ว 26 เครื่อง และจ.สิงห์บุรี 5 เครื่อง และได้ให้ความช่วยเหลือสูบน้ำสนับสนุนข้าวนาปรังในพื้นที่ 6,446 ไร่ ด้วยเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่องเป็นพื้นที่ใน จ.อุทัยธานี 1,600 ไร่ จ.สุพรรณบุรี 1,200 ไร่ และ จ.อ่างทอง 3,446 ไร่
4.3 การให้ความช่วยเหลือรถบรรทุกน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้เตรียมรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชน 85 คัน
5. แผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง จ.ชัยนาท
จ.ชัยนาท ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เนินขาม และ อ.หันคา และ อ.หนองมะโมง รวม 13 ตำบล 168 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นสภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรเพียงบางส่วน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมแผนเพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนี้
(1) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยนาท ประชาสัมพันธ์การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการประมงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และให้บริการการขอรับการสนับสนุนฝนหลวง
(2) สำนักชลประทานที่ 12 ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำในลำน้ำและพื้นที่เสี่ยงภัย ตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามสถานการณ์น้ำในระดับจังหวัด และเตรียมพร้อมเครื่อง สูบน้ำ รถขนน้ำ และเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ
(3) สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ให้คำแนะนำการปลูกพืชฤดูแล้ง และการจัดระบบการปลูกพืช ส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง และรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ขยายการผลิตศัตรูธรรมชาติและสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วยฤดูแล้ง
(4) สำนักงานประมงจังหวัดชัยนาท ควบคุมการใช้น้ำและปริมาณน้ำในที่เลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อย เช่น การรั่วซึม การกำจัดวัชพืช ประชาสัมพันธ์ให้มีการจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภคในเวลาเช้าเย็น เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อ งดเว้นการรบกวนสัตว์น้ำเพราะการตกใจจะทำให้สูญเสียพลังงานและอาจตายได้ งดเว้นการขนย้ายสัตว์น้ำโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำที่มากเกินความจำเป็นเพราะทำให้น้ำเสีย แจ้งความเสียหายตามแบบฟอร์มของกรมประมง เพื่อการขอรับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องและรวดเร็ว
(5) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเตรียมเสบียงและน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยงนอกเขตชลประทาน สำรองเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และยาถ่ายพยาธิ จัดทำวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคปากเท้าเปื่อย และคอบวม สำรองหญ้าแพงโกล่า 6,000 กิโลกรัม จัดทำแปลงหญ้าสดแพงโกล่าสำรองไว้ 60 ไร่ ใน อ.สรรพยา และ อ.วัดสิงห์ ตลอดจนจัดเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
(6) ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว จำนวน 45 ตัน เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดฝักสด 0.5 ตัน และท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง 400,000 ท่อน
(7) สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท ก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก 2 แห่ง ขุดสระน้ำใน ไร่นา 97 บ่อ รณรงค์และส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก จำนวน 2,000,000 กล้า
6. ข้อคิดเห็นและข้อสั่งการของ รมว.กษ.
6.1 จากการตรวจสถานการณ์พบว่าขณะนี้ยังไม่มีปัญหาการปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสใช้น้ำกันอย่างทั่วถึงและเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการปลูกพืชฤดูแล้ง จึงขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำนาปรัง ครั้งที่ 1 แล้ว งดทำนาปรังในครั้งที่ 2 โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อย เช่น พืชไร่ และพืชผักต่าง ๆ
6.2 ให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในการปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง
6.3 ให้กรมพัฒนาที่ดิน ตรวจสอบความเหมาะสมของดินที่จะใช้ปลูกพืชฤดูแล้งชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--