สรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลกและพลังงานในการขนส่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2009 17:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลกและพลังงานในการขนส่ง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลกและพลังงานในการขนส่ง ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม 2552 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กระทรวงคมนาคมจึงสรุปผลการประชุมให้ทราบ ดังนี้

1. สาระสำคัญของการประชุม

1.1 การประชุมเต็มคณะ : ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลกและพลังงานในการขนส่ง (Ministerial Declaration on Global Environment and Energy in Transport) ซึ่งกำหนดกรอบแผนงานเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ประเทศต่างๆ ในการดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศของตนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการขนส่ง ซึ่งผู้แทนประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันพิจารณาร่างฉบับสุดท้ายในที่ประชุม Drafting Meeting เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 จนได้ข้อยุติก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการประชุม Drafting Meeting ผู้แทนไทยได้เสนอการปรับแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ในประเด็นการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง โดยเห็นว่าแต่ละประเทศควรมีระดับความรับผิดชอบที่แตกต่างกันตามความพร้อมของแต่ละประเทศซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของอนุสัญญา United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC)

1.2 การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) ที่ ประชุมได้หารือแนวทางการลดปริมาณ การปล่อยทิ้งของเสียทางอากาศ ในส่วนของประเทศไทยได้เสนอที่ประชุม ดังนี้

  • ด้าน Inland Transport : ภาคการขนส่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรจะหยิบยกเป็นประเด็นพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขในระดับภูมิภาค เนื่องจากเป็นปัญหาร่วมกันของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย
  • ด้าน Aviation และ Maritime Transport : การกำหนดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการบินและการเดินเรือ ควรเป็นประเด็นที่พิจารณาในเวทีระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือพหุภาคีในกรอบองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)

2. กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อติดตามความคืบหน้าจากการประกาศร่างปฏิญญาฯ และจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกและพลังงานในการขนส่งครั้งที่ 2 ในดือนธันวาคม 2552 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี

3. ข้อสังเกตและความเห็น

3.1 ประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากการใช้เชื้อเพลิงสำหรับภาคการขนส่งทั้งในส่วนของการบินและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศนั้น ในการเจรจายังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยทาง European Commission (EC) ได้พยายามผลักดันให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อย GHG จากสายการบินพาณิชย์ที่บินเข้ากลุ่มประเทศ EU โดยในระยะแรกจะเรียกเก็บเฉพาะประเทศในกลุ่ม EU และระยะที่ 2 จะเรียกเก็บจากสายการบินประเทศอื่นๆ ที่บินเข้า EU ตามระยะทางจากต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสายการบินต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเที่ยวบินตรงสู่ประเทศในกลุ่ม EU ทำให้อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางบินโดยแวะจอดที่ประเทศข้างเคียง ก่อนบินเข้าประเทศในกลุ่ม EU ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และใช้ระยะเวลาในการทำการบินเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจึงควรสนับสนุนให้ใช้เวทีเจรจาในกรอบของ ICAO และ IMO ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับสากลและประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกโดยเสนอให้ทั้ง 2 องค์กรเป็นผู้นำในการศึกษามาตรการลด GHG จากการบินและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับร่วมกัน

3.2 มาตรการในการลด GHG และลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการขนส่งทางบก เพื่อให้การปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวเกิดผลในการปฏิบัติ ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการในเชิงบูรณาการโดยการจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเขตเมือง การกวดขันตรวจจับรถที่ปล่อยมลพิษ การใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดและเป็นมิตรเป็นสิ่งแวดล้อม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ