ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 10:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอว่า ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (30 ตุลาคม 2550) แล้ว โดยศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาแล้วและได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... ให้เป็นไปตามข้อสังเกตดังกล่าว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดนิยามคำว่า “สัตว์” “การทารุณกรรม” “ความทุกข์ทรมาน” “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” “องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์” เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)

2. ให้มีคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดสวัสดิภาพสัตว์และการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กำหนดวิธีการปฏิบัติในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 12 ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14)

3. ให้มีองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ การประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในการจัดทำกิจกรรม โครงการเพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตลอดจนศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ (ร่างมาตรา 15 — ร่างมาตรา 20)

4. กำหนดให้มีการควบคุมดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์ ให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่แสวงหากำไรและต้องไม่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักเกณฑ์กำหนด (ร่างมาตรา 21- ร่างมาตรา 23)

5. กำหนดมาตรการห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ เช่น การเฆี่ยน ทุบตี เผา ใช้สัตว์ทำงานเกินสมควร ใช้ยาหรือสารพิษให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นต้น (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 25)

6. ให้ควบคุมการประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์บางประเภท เช่น การค้าสัตว์ การแสดงและการประกวดสัตว์ การกีฬาและการแข่งขัน เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ต้องยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีกรมปศุสัตว์ โดยใบอนุญาตทุกฉบับให้ใช้ได้สามปีนับแต่วันออกใบอนุญาต (ร่างมาตรา 32 ร่างมาตรา 33 และร่างมาตรา 35)

7. กำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นสถานที่และตรวจยานพาหนะเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ทารุณกรรมสัตว์หรือยึด อายัดสัตว์หรือซากสัตว์ตามที่ได้รับแจ้งหรือมีเหตุอันควร (ร่างมาตรา 47)

8. กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อกิจการในการบริหารกองทุนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ กู้ยืมเพื่อจัดระบบการอนุบาล ดูแลสัตว์ ตามที่กองทุนกำหนดไว้และให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนป้องกันการทารุณกรรม และจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีหน้าที่บริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงิน การดำเนินกิจการต่างๆ ที่คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมฯ กำหนด (ร่างมาตรา 52 ร่างมาตรา 56-ร่างมาตรา 58)

9. กำหนดมาตรการลงโทษ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกรณีการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ โดยกำหนดเป็นโทษทางอาญาทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ (ร่างมาตรา 67 — ร่างมาตรา 68 และร่างมาตรา 78)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ