ร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 10:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย แต่มีข้อสังเกตในร่างมาตรา 33/1 (ร่างมาตรา 19) ดังนี้

1. ในส่วนที่กำหนดให้เจ้าพนักงานเรือนจำต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตรวจพัสดุภัณฑ์นั้น เห็นชอบด้วย

2. แต่สำหรับการตรวจจดหมาย สิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่นที่กำหนดให้ต้องร้องขอต่อศาลนั้น จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์อย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง ประกอบกับการกำหนดไว้ดังกล่าวนี้ไม่อาจป้องกันปัญหากรณีผู้ต้องขังที่มีพฤติกรรมจะหลบหนีการคุมขัง หรือกระทำการอันมีผลต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของเรือนจำใช้ให้ผู้ต้องขังอื่นเป็นผู้ทำการส่งจดหมายสื่อสารแทนตนได้ ซึ่งหากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นและเจ้าพนักงานเรือนจำ ไม่สามารถตรวจสอบจดหมายได้ เท่ากับว่าบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่มีผลในการบังคับใช้ หรือเป็นกรณีกฎหมายมีช่องว่าง นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการตรวจจดหมายของผู้ต้องขังในต่างประเทศที่มีมาตรฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังอันเป็นที่ยอมรับของสากล เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นต้น ซึ่งแยกแนวทางการตรวจสอบจดหมายดังนี้

(1) กรณีการตรวจจดหมายระหว่างผู้ต้องขังกับบุคคลทั่วไป ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยปรากฏว่า ประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดให้เรือนจำมีอำนาจเปิดตรวจสอบได้ทุกกรณี

(2) กรณีการตรวจจดหมายระหว่างผู้ต้องขังกับทนายความ ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยปรากฏว่า ประเทศส่วนใหญ่กำหนดไม่ให้เปิดตรวจสอบ แต่มีข้อยกเว้นว่าหากสงสัยว่ามีของผิดระเบียบซุกซ่อนอยู่หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยและวินัยของเรือนจำ เรือนจำก็สามารถเปิดและอ่านจดหมายได้

(3) กรณีการตรวจจดหมายระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจากผลการวิจัยปรากฏว่า ประเทศส่วนใหญ่กำหนดไม่ให้เปิดเพื่อตรวจสอบ ยกเว้นมีเหตุสงสัยว่าในจดหมายมีสิ่งของผิดระเบียบ หรือสงสัยว่าจดหมายที่มีถึงผู้ต้องขังไม่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ เรือนจำก็มีอำนาจเปิดและอ่านจดหมายได้

3. ดังนั้น จึงขอยืนยันให้ใช้บทบัญญัติร่างมาตรา 33/1 ตามร่างเดิมที่กระทรวงยุติธรรมเสนอและคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก็ควรแก้ไขร่างมาตรา 33/1 ให้เป็นไปตามแนวทางการตรวจจดหมายของผู้ต้องขังในต่างประเทศ ดังนี้

(1) แนวทางการตรวจจดหมายทั่วไป ควรระบุให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะตรวจจดหมายฉบับใด และเป็นผู้ดำเนินการตรวจจดหมายโดยการเปิดอ่าน และกำหนดเหตุที่จะให้ตรวจสอบสำหรับกรณีนี้ไว้ด้วย

(2) แนวทางการตรวจจดหมายระหว่างผู้ต้องขังกับทนายความควรระบุให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจสั่งและตรวจจดหมายโดยการเปิดอ่านและกำหนดเหตุที่จะให้ตรวจสอบสำหรับกรณีนี้ไว้ด้วย

(3) แนวทางการตรวจจดหมายระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐและหนังสือร้องทุกข์ ควรกำหนดห้ามมิให้ตรวจสอบ แต่ควรมีข้อยกเว้นกำหนดไว้ด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ