ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 10:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในสถานที่กักขัง พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในสถานที่กักขัง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้เสนอร่างพระราชบัญญัติไปเพื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ส่วนร่างกฎกระทรวงให้ดำเนินการต่อไปได้

กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างกฎกระทรวงที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ประกอบกับความเห็นของกรมราชทัณฑ์แล้วเห็นชอบด้วยกับความเห็นชองกรมราชทัณฑ์ โดยเห็นว่า

1. การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบจดหมาย เอกสารพัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นๆ หรือสกัดกั้นการสื่อสารที่มีถึงหรือส่งจากผู้ต้องกักขังนั้นเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 36 ประกอบมาตรา 29 ที่กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการตรวจ การกักหรือการเปิดเผยสิ่งสื่อสารที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประกาศอื่นใดเพื่อให้ล่วงรู้ถึงข้อความในสิ่งสื่อสารทั้งหลายที่บุคคลมีติดต่อกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งจากข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ที่ประสงค์จะให้มีกรอบในการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักขังซึ่งถือเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายมิให้สามารถใช้การติดต่อสื่อสารไปก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทำผิดใดๆ ขึ้นอีกได้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสังคมส่วนรวม การที่ได้เสนอให้มีบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเรื่องเหมาะควรแก่กรณีแล้ว

2. สำหรับร่างกฎกระทรวงฯ ข้อ 2(6) ที่ขอเพิ่มคำว่า “อาวุธ”นั้นมิใช่หลักการใหม่ เพราะอาวุธเป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้าในสถานที่กักขังที่กำหนดไว้เดิมตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506

สาระสำคัญของร่างกระราชบัญญัติและร่างกฎกระทรวง

1. ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

1.1 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขังบางกรณี และมีอำนาจตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องกักขังได้ รวมทั้งกำหนดการรับรองสิทธิของผู้ต้องกักขังที่จะยื่นเรื่องราวร้องทุกข์หรือยื่นเรื่องราวใด หรือถวายกีฎา (เพิ่มมาตรา 5/1 ถึงมาตรา 5/3 (ร่างมาตรา 3))

1.2 กำหนดให้ปฏิบัติต่อผู้กักขังหญิงที่มีครรภ์เสมือนหนึ่งเป็นผู้ป่วยเจ็บโดยอนุโลม (เพิ่มมาตรา 8 วรรคสี่ (ร่างมาตรา 4))

1.3 เพิ่มอัตราโทษของผู้ต้องกักขังที่ถูกปล่อยตัวไปกรณีมีเหตุฉุกเฉินไม่ปลอดภัยแก่ผู้ต้องกักขังแล้วไม่กลับมารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร และของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับสถานที่กักขังให้หนักขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 10 วรรหนึ่ง (ร่างมาตรา 5 และมาตรา 6))

1.4 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาสถานที่กักขังมีอำนาจที่จะดำเนินการลงโทษทางวินัยแทนการส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีอาญา กรณีผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับกระทำผิดอาญาในความผิดลหุโทษความผิดตามมาตรา 10 ความผิดฐานประทุษร้ายแก่ทรัพย์สินของสถานที่กักขังที่ไม่ร้ายแรง หรือความผิดฐานพยายามหลบหนีสถานที่กักขัง (เพิ่มมาตรา 10/1 (ร่างมาตรา 7))

2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในสถานที่กักขัง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการกำหนดสิ่งของต้องห้ามนำเข้ามาในสถานที่กักขัง และกำหนดข้อยกเว้นสำหรับสิ่งของต้องห้ามที่มีไว้เพื่อใช้ในราชการ (ร่างข้อ 2)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ