ร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 10:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาเกษตรกร เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปของสภาเกษตรกรภายใน 1 ปี นับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดให้จัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดเสนอชื่อสมาชิกจังหวัดละหนึ่งคน และสมาชิกซึ่งเลือกจากตัวแทนองค์กรเกษตรกรด้านพืช ด้านสัตว์ ด้านประมง และด้านเกษตรอื่น ๆ รวม 16 คน กระจายสัดส่วนตามกลุ่มอาชีพ และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคัดเลือกจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม รวม 7 คน ซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ด้านสัตว์ และด้านประมง อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน (ร่างมาตรา 7)

2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตร ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร จัดทำแผนแม่บทเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสนับสนุนวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น เป็นต้น (ร่างมาตรา 8)

3. กำหนดให้มีสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สกช.” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรแห่งชาติ (ร่างมาตรา 20)

4. กำหนดให้มีสภาเกษตรกรจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรเกษตรกรที่ได้รับการสรรหาตามหลักเกณฑ์ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติกำหนด จำนวน 16 คน และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม จำนวน 5 คน โดยอย่างน้อยต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ด้านสัตว์ และด้านประมง อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน (ร่างมาตรา 27)

5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด ให้พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในระดับจังหวัด ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มขององค์กรเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และยุวเกษตรกรในจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับจังหวัดเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ และรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับราคาและผลผลิตทางเกษตรกรรม (ร่างมาตรา 29)

6. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดขึ้น เรียกโดยย่อว่า “สกจ.” ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับผิดชอบงานด้านธุรการของสภาเกษตรกรจังหวัด (ร่างมาตรา 36)

7. กำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยมีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อจัดทำแผนแม่บทแล้วให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาโดยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดังกล่าว ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนแม่บท (ร่างมาตรา 40 และร่างมาตรา 42)

8. กำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรกให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทำหน้าที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดไปพลางก่อนให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการเสนอชื่อสมาชิกตามมาตรา 44 (ร่างมาตรา 43 และร่างมาตรา 45)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ