คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเมื่อปี 2548 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตรวจพิจารณาแล้วเมื่อปี 2548 ขอยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไปตามที่เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งการยางแห่งประเทศไทยโดยยกเลิกกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและองค์การสวนยาง ดังนี้
1. ให้จัดตั้งองค์กรขึ้น เรียกว่า “การยางแห่งประเทศไทย” (กยท.) เป็นนิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร บริหารเงินกองทุนพัฒนายางพารา ส่งเสริมสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการอุตสาหกรรมยางพารา ส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางผู้ประกอบกิจการยาง ดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพผลผลิตและระบบตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฯลฯ (ร่างมาตรา 6 — ร่างมาตรา 10)
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน มีผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการ (ร่างมาตรา 16)
3. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนายางพารา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา (ร่างมาตรา 38-ร่างมาตรา 41)
4. กำหนดค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดและการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน (ร่างมาตรา 42- ร่างมาตรา 43)
5. กำหนดให้การจัดสรรเงินจากกองทุนกรณีเงินของกองทุนหรือรายได้ไม่เพียงพอให้รัฐตั้งรายจ่ายเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปีตามความจำเป็น และกำหนดให้ผู้ว่าการฯ แยกบัญชีและเอกสารการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนออกจากบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินอื่นของ กยท. (ร่างมาตรา 44-ร่างมาตรา 45)
6. คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ระงับการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางผู้ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของคณะกรรมการหรือพนักงานซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติ และอาจเข้าไปในสวนยางเพื่อตรวจสอบ รังวัดหรือมีหนังสือเรียกเกษตรกรชาวสวนยางมาให้ข้อเท็จจริง ให้ถ้อยคำ สำหรับเอกสารใดๆ (ร่างมาตรา 46-ร่างมาตรา 47)
7. กำหนดเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการตรวจสอบโดยกำหนดให้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าภาระหน้าที่แล้ว ให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ และให้ กยท. ทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงิน เสนอต่อรัฐมนตรีปีละครั้ง (ร่างมาตรา 48-ร่างมาตรา 56)
8. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำกับดูแลทั่วไป ซึ่งกิจการของ กยท. โดยในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเพิ่มหรือลดทุน กู้ยืมและให้กู้ยืมเงินเกินห้าสิบล้านบาท จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ราคาเกินห้าล้านบาท ออกพันธบัตร หรือตราสารเพิ่มการลงทุน และการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือมหาชนจำกัด ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน (ร่างมาตรา 57-ร่างมาตรา 59)
9. กำหนดบทกำหนดโทษแก่ผู้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมผู้ขัดขวางไม่ให้ความสะดวกแก่กรรมการ พนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ และกรณีผู้กระทำผิดที่เป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้รับผิด (ร่างมาตรา 60-ร่างมาตรา 62)
10. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับกิจการต่าง ๆ ที่ได้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับเดิมไปแล้ว (ร่างมาตรา 63-ร่างมาตรา 71)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--