ร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 10:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า

1. โดยที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ประกาศใช้และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้การบริหารและการจัดการศึกษาของเอกชนมีความเป็นอิสระคล่องตัว โดยกำหนดให้โรงเรียนเอกชนเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการบริหารและมีการกำกับติดตามการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาจากรัฐ โดยรัฐให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน การลดหย่อนหรือการยกเว้นภาษีและสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษาเอกชนตามความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการให้สถานศึกษาเอกชนมีมาตรฐานและสามารถพึ่งตนเองได้

2. โรงเรียนเอกชนมีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งโรงเรียนแต่ละประเภทมีลักษณะการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายเพื่อครอบคลุมการจัดการศึกษาเอกชนในทุกระดับ ทุกประเภท ให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดเดียวกันนั้น บางข้อกำหนดก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โรงเรียนเอกชนบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้ บางบทบัญญัติส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชนทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่เคยได้รับตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และโรงเรียนที่ได้จัดตั้งก่อนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับ บางโรงเรียนไม่มีความพร้อมในการบริหารในรูปแบบที่เป็นนิติบุคคล ตลอดจนมีความขัดข้องด้วยปัจจัยหลายประการ จึงเป็นการสมควรที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับฐานะผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นนิติบุคคล รวมทั้งการขอยกเว้นเกี่ยวกับภาษีอากร ตลอดการจัดทำระบบบัญชีและการจัดสรรผลกำไร และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันสังคมของผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนเอกชน

3. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้ว โดยวิธีการจัดประชุมสัมมนาโดยสภาโรงเรียนเอกชน ชมรม และสมาคมการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ไปกระทบสิทธิเกี่ยวกับการประกันสังคม เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ซึ่งได้นำข้อสังเกตต่าง ๆ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว

จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยาม โรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา และเพิ่มนิยาม โรงเรียนนานาชาติ (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีฐานะเป็นอธิบดี (ร่างมาตรา 4)

3. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดิน ในกรณีโรงเรียนเป็นนิติบุคคลและการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนหรือภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)

4. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับชื่อโรงเรียน ให้โรงเรียนเอกชนระดับอาชีวศึกษาใช้คำว่าวิทยาลัย (ร่างมาตรา 7)

5. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหาร ให้โรงเรียนสามารถเพิ่มจำนวนกรรมการบริหารได้ตามความเหมาะสมและสภาพของโรงเรียน (ร่างมาตรา 8)

6. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับระบบการจัดสรรกำไร การจัดระบบการจัดทำบัญชี และการตรวจสอบบัญชีและการยกเว้นภาษีเงินได้ (ร่างมาตรา 9-ร่างมาตรา 11)

7. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนเอกชน ทำให้ลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนสามารถส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและให้สิทธิผู้ที่เคยส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสามารถส่งต่อเนื่องได้ (ร่างมาตรา 12-ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 16)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ