ขออนุมัติร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 13:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555 และร่างแผนยุทธศาสตร์

การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553-2557)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

1.อนุมัติร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555 และร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553-2557) โดยขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้อง สนับสนุนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2.ให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และติดตามประเมินผลตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ในร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555

3.ให้กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายและประสานงานกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และติดตามประเมินผลตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553-2557)

4.ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555 และร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553 -2557) รวมทั้งสนับสนุนแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณบูรณาการประจำปีที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของแผนทั้งสองดังกล่าวอย่างเหมาะสม สาระสำคัญของร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2552-2555

วัตถุประสงค์

1. เพื่อแสดงทิศทางการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมของประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

2. เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปโดยสอดคล้องกัน และมีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ตลอดจนใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

กำหนดเป้าหมายหลักในระยะ 4 ปีข้างหน้า ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความพึงพอใจ

เป้าหมายที่ 2 อาชญากรรม ข้อพิพาท ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมลดลง

เป้าหมายที่ 3 กฎหมายมีการบังคับใช้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

เป้าหมายที่ 4 ประชาชนมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและศรัทธาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรมและลดการเกิดข้อพิพาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการประนอมข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างการมีส่วนร่วมและบทบาทของภาคีการพัฒนาต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประสานความร่วมมือและพัฒนาระบบงานยุติธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการและการส่งเสริมคุณธรรม

สาระสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553-2557) กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานไว้รวม 5 ยุทธศาสตร ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมบนพื้นฐานหลักนิติธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความยุติธรรมชุมชนและยุติธรรมทางเลือกให้เข้มแข็ง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบและแนวทางปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้านการอำนวยความยุติธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ