ขออนุมัติใช้เงินกู้จากต่างประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 14:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการขออนุมัติใช้เงินกู้จากต่างประเทศสำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินการโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) จำนวน 8 สายทาง รวมระยะทาง 433 กิโลเมตร วงเงินรวม 11,240 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ส่วนหนึ่งและเงินงบประมาณแผ่นดินอีกส่วนหนึ่ง

2. อนุมัติโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวงดังกล่าว เพื่อบรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ต่างประเทศประจำปีงบประมาณ 2552

3. ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 5,620 ล้านบาท (156.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสมทบ จำนวน 5,620 ล้านบาท รวมจำนวนเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 11,240 ล้านบาท เพื่อให้กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนดำเนินโครงการ

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า กรมทางหลวงยืนยันการเสนอเรื่อง โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) จำนวน 8 สายทาง ระยะทาง 433 กิโลเมตร เพื่อบรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ต่างประเทศ ปี 2552 และขออนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 5,260 ล้านบาท (156.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสมทบ จำนวน 5,260 ล้านบาท รวมวงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 11,240 ล้านบาท ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เหตุผลและความจำเป็น

การดำเนินโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ซึ่งตามแผนงานได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ 11 ปี ตั้งแต่ปี 2539-2549 แต่ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผนงานที่ได้กำหนดไว้ซึ่งมีระยะทางเป้าหมายทั้งสิ้นประมาณ 5,387 กิโลเมตร โดยสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 2,257 กิโลเมตร (ร้อยละ 41.90) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 542 กิโลเมตร (ร้ยอละ 10.05) และยังไม่ได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินงานอีกประมาณ 2,588 กิโลเมตร (ร้อยละ 48.04) นอกจากนี้ในปัจจุบันกรมทางหลวงได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณประจำปีไม่เพียงพอสำหรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ต่างประเทศเพื่อดำเนินการก่อสร้างสำหรับใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการให้ได้ตามที่กำหนดไว้

2. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อพัฒนาระบบทางหลวงให้มีประสิทธิภาพในการรองรับการจราจรให้เพิ่มมากขึ้น เป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้เชื่อมต่อกันเป็นระบบทำให้ประชาชนสามารถใช้การเดินทางมากยิ่งขึ้น

2.2 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเป็นตัวชี้นำการกระจายความเจริญไปสู่ชนบทและภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

2.3 เพื่อพัฒนาส่งเสริมเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่จะเชื่อมกับต่างประเทศในเชิงรุก รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ

3. รายละเอียโครงการ/เป้าหมาย

โครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ในการขออนุมัติใช้เงินกู้จากต่างประเทศเป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความยั่งยืน โดยเส้นทางที่เสนอขออนุมัติใช้เงินกู้มียุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางใน 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

3.1 เส้นทางสนับสนุนการพัฒนาแนวเศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก (East West Economic Corridor) เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า เพื่อรองรับด้านการค้า บริหาร และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการส่งสินค้าระหว่างท่าเรือด้านทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน

3.2 เส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและส่งสินค้าและวัตถุดิบระหว่างภาคต่าง ๆ กับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุดและแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

3.3 เส้นทางสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้าสู่พื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันออก — ตะวันตก เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และการลงทุนบริเวณพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว

4. หลักเกณฑ์การคัดเลือกสายทาง

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาการคัดเลือกสายทางเพื่อขออนุมัติใช้เงินกู้ต่างประเทศประจำปีงบประมาณ 2551 มีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้

4.1 เป็นสายทางที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

4.2 เป็นเส้นทางสายที่มีปริมาณการจราจรสูงมีปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งนี้ ปริมาณการจราจรเฉลี่ยมากกว่า 8,000 คัน/วัน (ในปีเปิดการจราจร)

4.3 พิจารณาสายทางที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการทุน

4.4 เป็นสายทางที่บรรจุไว้ในแผนที่จะดำเนินการตามแผน 5 ปี และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)

4.5 พิจารณาเส้นทางที่ขาดตอน (Missing Link) เพื่อปรับปรุงให้เป็นโครงข่ายต่อเนื่องที่สมบูรณ์

4.6 พิจารณาเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญสามารถเชื่อมโยงไปสู่เมืองหลักในภูมิภาคต่างๆ เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ (เขตเศรษฐกิจพิเศษ) เป็นทางหลวงสายประธานที่มีปริมาณการจราจรสูงเป็นเส้นทางที่แยกจากทางสายหลักไปยังเมือสำคัญเส้นทางให้กระจายครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ