โครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเทินหินบุนส่วนขยาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 14:23 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการระบบส่งเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเทินหินบุนส่วนขยายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในวงเงินลงทุนรวม 665 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

กระทรวงพลังงานรายงานว่า

1. โครงการเทินหินบุนส่วนขยายเป็นโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนใหม่เหนือเขื่อนเทินหินบุนเดิม ซึ่งเป็นเขื่อนแบบ Run-off-river เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 220 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เป็น 440 เมกะวัตต์ โดยสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟผ. รวมประมาณ 2,572 ล้านหน่วย ต่อปี โดยโครงการมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date :COD) วันที่ 1 มีนาคม 2555 และจะเชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในฝั่งไทยที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงนครพนม 2 (ซึ่งเป็นสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่) และสถานีไฟฟ้าท่าแขกในฝั่ง สปป.ลาว

2. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการกำหนดเงื่อนไขว่า กฟผ. จะต้องดำเนินการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงในฝั่งไทยให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2554 (ก่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จประมาณ 3 เดือน) เพื่อทดสอบการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโครงการฯ ก่อนวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หากการก่อสร้างสายส่งช้ากว่ากำหนดดังกล่าว กฟผ. จะต้องเสียค่าปรับให้กับโครงการฯ

3. การวิเคราะห์ทางเลือกการดำเนินโครงการที่เหมาะสม : กฟผ. ได้ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าเทินหินบุนส่วนขยายกับโรงไฟฟ้าเทินหินบุนที่มีอยู่เดิมเชื่อมกับระบบสายส่งของ กฟผ. ที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคที่มีความเชื่อถือได้ตามมาตรฐานความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่กำหนด จำนวน 3 ทางเลือก โดยเลือกแนวทางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ ก่อสร้างสายส่ง 230 เควี เทินหินบุน-ท่าแขก วงจรคู่ และการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 เควี นครพนม 2 พร้อมทั้งปรับปรุงสายส่ง 230 เควี ท่าแขก-นครพนม 2 วงจรคู่ เป็นแบบ Invar และปรับปรุงระบบสายส่งภายในของ กฟผ.

4. ระยะเวลาดำเนินการ : ใช้เวลาศึกษาเตรียมงานจนก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 4 ปี (ปลายปี 2550 — ปลายปี 2554) โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในประมาณเดือนพฤศจิกายน 2554

5. วงเงินลงทุน : รวมทั้งสิ้นประมาณ 665 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ 265 ล้านบาท (7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.85 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในประเทศ และการก่อสร้าง 400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.15 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด

6. ผลตอบแทนการลงทุน : เนื่องจากระบบส่งรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนในปัจจุบันของ กฟผ. ยังมีขีดความสามารถในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 180 เมกะวัตต์ ทำให้ กฟผ. ใช้เงินลงทุนในการปรับปรุงระบบสายส่งค่อนข้างน้อยในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนส่วนขยาย จึงมีผลตอบแทนการลงทุนโครงการที่ค่อนข้างสูง ดังนี้

6.1 อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางด้านเศรษฐศาสตร์ (EIRR) ร้อยละ 69.98

6.2 อัตราผลตอบแทนการลงทุนทางด้านการเงิน (FIRR) ร้อยละ 68.77

กฟผ. จะดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยจะไม่ดำเนินการผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมหรือบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ และ 1 บี จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

กระทรวงพลังงานจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ