คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้
1. นโยบายส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง มีสาระสำคัญดังนี้
1.1 ภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปี 2550 ประเทศไทยนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงจากต่างประเทศ จำนวน 5.37 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 177,257 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 59 ของมูลค่าการนำเข้าเหล็กทั้งหมด เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของประเทศไทยผลิตได้แต่เหล็กคุณภาพต่ำ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์ได้ โดยประมาณการความต้องการใช้เหล็กในระยะ 30 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จาก 5.46 ล้านตันในปี 2551 เป็น 14.12 ล้านตันในปี 2580
1.2 ความสนใจลงทุนของภาคเอกชน ขณะนี้มีบริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกจำนวน 4 ราย โดยเป็นผู้ผลิตเหล็กจากประเทศญี่ปุ่น 2 ราย ประเทศจีน 1 ราย และประเทศสวีเดน 1 ราย ได้แสดงความสนใจจะมาลงทุนในกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นในประเทศไทย ซึ่งหากมีการลงทุนดังกล่าวจะลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงเฉลี่ยประมาณปีละ 180,000 — 200,000 ล้านบาท และจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ
1.3 พื้นที่ที่มีศักยภาพ จาการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ในเบื้องต้น โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ ได้แก่ (1) ขนาดของพื้นที่ (2) ร่องน้ำลึกที่เหมาะสมต่อการสร้างท่าเรือน้ำลึก (3) การจัดการสิ่งแวดล้อม และ (4) การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ พบว่า ในเบื้องต้นพื้นที่ภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว
1.4 ผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ดังนั้น ในการดำเนินการจำเป็นต้องจัดเตรียมมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรัดกุม และสร้างการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่โดยจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่ขั้นการจัดเตรียมโครงการ
มติคณะกรรมการ รศก.
1. รับทราบผลการศึกษาเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูงของ สศช.
2. เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูงของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีประกาศเชิญชวนแล้ว และมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการ ดังนี้
(1) ศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการ (Feasibility Study) ในรายละเอียดโดยครอบคลุมประเด็นความต้องการใช้เหล็กคุณภาพสูงในอนาคต รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน
(2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่อง แนวทางส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นเพื่อผลิตเหล็กคุณภาพสูง
(3) จัดทำแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการในลักษณะไตรภาคีร่วมกันระหว่างนักลงทุน ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
(4) นำผลการศึกษา ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการดำเนินการต่อไป
2. เรื่อง อื่น ๆ
2.1 การย้ายเที่ยวบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) จากท่าอากาศยานดอนเมืองกลับมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสาระสำคัญดังนี้
2.1.1 สืบเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้ประกอบการสายการบินและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค ที่ประชุมมีความเห็นว่า ประเทศไทยจะต้องใช้สนามบินแห่งเดียว คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค นอกจากนั้น การใช้ 2 สนามบิน คือ ทสภ. และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) มีข้อจำกัดของระยะห่างประมาณ 18 ก.ม. และการประกาศเขตห้ามบิน ทำให้เกิดปัญหาจุดตัดของเส้นทางบิน
2.1.2 ปัจจุบัน บกท. ประสบปัญหาทางการเงินซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูฐานะการเงินโดยการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายซึ่งการย้ายเที่ยวบินภายในประเทศ จาก ทดม. ไปยัง ทสภ. เพื่อปฏิบัติการบินเพียงจุดเดียว จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 2 สนามบิน โดยยกเลิกการให้บริการที่ ทดม. ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายบริการภาคพื้น ประมาณ 220 ล้านบาท / ปี และค่าใช้จ่ายบุคลากร ประมาณ 427 ล้านบาท / ปี ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบ การย้ายเที่ยวบินภายในประเทศของ บกท. จาก ทดม. กลับ ทสภ.
มติคณะกรรมการ รศก.
1) รับทราบการปรับเที่ยวบินภายในประเทศกลับมาให้บริการที่ ทสภ. ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจของ บกท. โดยที่ประชุมมีข้อสังเกตใน 3 ประเด็น ดังนี้
(1) บกท. ควรพิจารณาการปรับเที่ยวบินภายในประเทศให้เหมาะสมและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
(2) ในการพิจารณาเปิดบริการเที่ยวบินภายในประเทศ ณ ทสภ. เพียงแห่งเดียว บกท. ควรคำนึงถึงความชัดเจนของนโยบายที่จะใช่ระบบท่าอากาศยานเดียว (Single Airport) หรือระบบท่าอากาศยานพาณิชย์ 2 แห่ง (Dual Airport)
(3) บกท. ควรเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ บกท. ชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2552 รับทราบหรือพิจารณา
2) มอบหมายกระทรวงคมนาคม จัดทำข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาการจัดการจราจรทางอากาศ ปัญหาการบริหารจัดการของสายการบิน และโอกาสในการสร้างเครือข่ายเส้นทางบิน รวมทั้งเปรียบเทียบการกำหนด นโยบายให้ ทสภ. เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ทั้งในด้านความคุ้มค่าทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ข้อดี และข้อเสีย รวมทั้งการขยายขีดความสามารถของ ทสภ. ในระยะต่อไป และนำเสนอคณะกรรมการ รศก. ภายใน 2 สัปดาห์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--