ขออนุมัติค่าสมาชิกสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอทั้ง 2 ข้อดังนี้

1. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศเบิกจ่ายเงินจำนวน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นค่าธรรมเนียมสมาชิกเอเปค

2. เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการต่างประเทศตั้งงบประมาณรองรับสำหรับอัตราค่าบำรุงสมาชิกเอเปคในปีต่อๆ ไป ที่อาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าธรรมเนียมสมาชิกในปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากการประเมินรายได้มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้น

โดยภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาปรับแผนเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 รายการเงินอุดหนุนองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ส่วนเงินค่าสมาชิกในปีต่อ ๆ ไป ให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอขอตั้งงบประมาณตามภาระที่ต้องจ่ายในแต่ละปีต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 7 - 9 กันยายน 2550 ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ผู้นำฯ ได้เห็นชอบให้เพิ่มค่าธรรมเนียมสมาชิกอีกร้อยละ 30 ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product — GNP) และรายได้ต่อหัว (GNP per capita) เป็นเกณฑ์ เป็นผลให้ไทยจะต้องจ่ายอัตราค่าบำรุงใหม่เพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) จากเดิมที่เคยได้รับอนุมัติให้ชำระในปี ค.ศ. 2007 — 2008 (พ.ศ. 2550 — 2551) จำนวน 58,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกลุ่มประเทศที่ต้องจ่ายเพิ่มเท่ากัน ได้แก่ บรูไน ชิลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

2. เหตุผลประการหนึ่งที่ผู้นำฯ มีมติให้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสมาชิกเอเปคก็เพื่อรองรับกระบวนการการปฏิรูปองค์กรเอเปค โดยเฉพาะการจัดตั้ง APEC Policy Support Unit (PSU) ที่สำนักเลขาธิการเอเปค เพื่อทำหน้าที่เสมือน think-tank ให้กับสมาชิกเอเปค และให้แต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารอาชีพ (Fixed Term Executive Director — FTED) ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเพิ่มเติมจากเดิมเพื่อให้พอเพียงที่จะดำเนินกิจกรรมและโครงการอื่น ๆ ของเอเปคต่อไปด้วย

3. ไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอเปคในหลายด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการดำเนินความร่วมมือภายใต้กลไกต่างๆ กับสมาชิก การผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยในระดับภูมิภาค การได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของโครงการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้เอเปคยังเป็นกรอบความร่วมมือที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียกับภูมิภาคอเมริกา ซึ่งมีคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา รวมอยู่ด้วย จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยสามารถใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับคู่ค้าสำคัญในต่างภูมิภาคได้ กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกิจกรรมของเอเปคมาโดยตลอด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน คุ้มค่ากับอัตราค่าบำรุงสมาชิกที่เพิ่มขึ้น

กระทรวงการต่างประเทศจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ