คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้รายงานสถานะหนี้สาธารณะของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1. พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ตามข้อ 3 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและ กำกับการบริหารหนี้สาธารณะรายงานสถานะหนี้สาธารณะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายหลังการเข้ารับหน้าที่
2. คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ดังนั้น คณะกรรมการนโยบาย และกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้รายงานสถานะหนี้สาธารณะดังนี้
2.1 หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 มีจำนวน 3,415,564.96 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ที่มีค่าเท่ากับ 9,232,200 ล้านบาท ซึ่งหนี้สาธารณะจำนวนดังกล่าวประกอบด้วย
2.1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,127,405.48 ล้านบาท
2.1.2 หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,021,712.10 ล้านบาท
2.1.3 หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 119,937.40 ล้านบาท
2.1.4 หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 138,193.84 ล้านบาท
2.1.5 หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,316.14 ล้านบาท
โดยจำแนกตามแหล่งที่มาของหนี้แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 3,011,065.86 ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศ 404,499.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 88 และร้อยละ 12 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาหนี้สาธารณะที่ไม่ใช่หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจะมีจำนวนเท่ากับ 1,288,159.48 ล้านบาท (3,415,564.96 — 2,127,405.48) แบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน 783,494.39 ล้านบาท และไม่ค้ำประกัน 504,665.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61 และร้อยละ 39 ตามลำดับ
2.2 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปี 2547 — วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 อยู่ในช่วง 3,085,273.51 — 3,415,565.96 ล้านบาท โดยมีหนี้สาธารณะต่ำสุดในปี 2550 และสูงสุดในปี 2551 ซึ่งในการบริหารหนี้สาธารณะที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญของการดำเนินการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบทั้งในด้านการก่อหนี้ใหม่และการบริหารนี้คงค้าง โดยใช้เครื่องมือทางการเงินและอาศัยโอกาสที่ตลาดการเงินเอื้ออำนวยดำเนินการบริหารหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ 2547 — 2551 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการบริหารหนี้โดยการทำ Prepayment Refinance Swap Arrangement และใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เป็นผลให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้ 284,198.17 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยได้ 45,567.14 ล้านบาท
2.3 แนวโน้มสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ปีงบประมาณ 2552 — 2553 กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์แนวโน้มระดับหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 หนี้สาธารณะจะมีจำนวน 4,063, 011 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 4,460,401 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะเป็นผลจากการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายและ การลงทุนที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถขยายตัวได้ และเมื่อพิจารณายอดหนี้สาธารณะเปรียบเทียบกับ GDP พบว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 — 2553 จะมีสัดส่วนที่ร้อยละ 42.73 และร้อยละ 44.67 ตามลำดับ สำหรับในส่วนของภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นภาระหนี้ต่องบประมาณจะอยู่ร้อยละ 10.20 ในปีงบประมาณ 2552 และร้อยละ 12.20 ในปีงบประมาณ 2553 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ใน ช่วงปีงบประมาณ 2552 — 2553 หนี้สาธารณะและภาระหนี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ภาระหนี้ต่องบประมาณยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 และภาระหนี้ต่องบประมาณมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ตามลำดับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--