มาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 และคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 15:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ และอนุมัติวงเงินกู้สำหรับการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร (จำนวน 110,000 ล้านบาท) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 หากวงเงินไม่เพียงพอ ให้พิจารณาขอใช้เงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งองค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้มีการส่งคืนเงินค่าจำหน่ายข้าวโครงการรับจำนำปีเก่า ประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ในอัตรา MRR - 1 หรือ 6% ส่วนค่าใช้จ่ายของหน่วยงานปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) พิจารณาต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 13 มีนาคม 2552 เห็นชอบมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ ดังนี้

1.1 มาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552

(1) เป้าหมาย ปริมาณรับจำนำ จำนวน 2.50 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ อคส. และ อ.ต.ก. รับฝากและออกใบประทวน และ ธ.ก.ส. รับจำนำใบประทวนที่ อคส. และ อ.ต.ก. ออกให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

(2) ระยะเวลา ระยะเวลารับจำนำ 16 มีนาคม — 31 กรกฎาคม 2552 ยกเว้นภาคใต้ระยะเวลารับจำนำ กรกฎาคม — กันยายน 2552 ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับถัดจากเดือนที่รับจำนำ ระยะเวลาโครงการ 16 มีนาคม — ธันวาคม 2552

(3) ราคารับจำนำ กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% เท่ากับข้าวเปลือกเจ้านาปี ปีการผลิต 2551/52 ดังนี้ ข้าวเปลือกเจ้า 25% - 100% ราคาตันละ 10,800 — 12,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ชนิดสีได้ต้นข้าว 36 — 42 กรัม ราคาตันละ 11,400 — 12,000 บาท (ให้ปรับราคาเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 100 บาท) และข้าวเปลือกเหนียว 10% คละ ราคาตันละ 9,000 บาท

(4) หลักเกณฑ์และวิธีการรับจำนำ เกี่ยวกับเกษตรกรผู้มีสิทธิจำนำ พื้นที่รับจำนำ การเข้าร่วมโครงการของโรงสี การกำกับดูแล การข้ามเขตของเกษตรกร การจำนำนอกพื้นที่ของโรงสี การห้ามเปาเกา การสั่งสีแปรสภาพ การส่งมอบ และการจัดเก็บข้าวสารในโกดังกลางในแนวทางเดียวกับการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551/52

(5) วงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรรายคน ให้ปรับลดวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกรรายคนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 จากที่กำหนดในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52 วงเงินไม่เกินรายละ 500,000 บาท เป็นไม่เกินรายละ 350,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยอย่างแท้จริง และให้เหมาะสมสอดรับกับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 รวมทั้งปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรได้รับ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัดจะต้องกำกับดูแลการรับจำนำข้าวเปลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมสิทธิเกษตรกร หากตรวจสอบพบจะถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตลอดไป

(6) อัตราการสูญเสียน้ำหนักข้าวสาร กำหนดอัตราการสูญเสียน้ำหนักข้าวสารร้อยละ 0.5 ของน้ำหนัก ระยะเวลาเก็บรักษาไม่เกิน 6 เดือน และอัตราไม่เกินร้อยละ 1.0 ของน้ำหนัก ระยะเวลาเก็บรักษาเกิน 6 เดือน

(7) วงเงินใช้รับจำนำและค่าใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 สำหรับวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 เห็นชอบให้ขอใช้จากวงเงินกู้สำหรับการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร (จำนวน 110,000 ล้านบาท) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 หากมีวงเงินเหลือ ส่วนค่าใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ตามที่หน่วยงานปฏิบัติ ได้แก่ อคส. อ.ต.ก. ธ.ก.ส. และกรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอ มอบหมายให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ของทั้ง 4 หน่วยงานให้ชัดเจนเหมาะสม และนำเสนอ คชก. พิจารณาต่อไป

1.2 คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ ดังนี้

เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รอบคอบ และมีประสิทธิภาพ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ ดังนี้

(1) คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการผลิตข้าว การส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรชาวนา เสนอแนวทางการพัฒนาส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าว รวมทั้งเสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการผลิตข้าวที่เหมาะสมต่อ กขช.

(2) คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวและแนวทางส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดที่เหมาะสม ต่อ กขช.

(3) คณะอนุกรรมการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่พิจารณาสั่งสีแปรสภาพข้าวเปลือก กำหนดอัตราการแปรสภาพ และอัตราการส่งมอบข้าวสารที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกที่รับจำนำเพื่อส่งมอบเข้าโกดังกลางและไซโล รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราการไถ่ถอนข้าวเปลือกตามโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และพิจารณาปริมาณ ราคา หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการจำหน่าย และกำกับดูแลการจำหน่ายข้าวเปลือก รวมทั้งแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ และให้คณะอนุกรรมการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธาน กขช.พิจารณาอนุมัติการจำหน่ายข้าวเปลือกและรายงานผลการดำเนินงานต่อ กขช.ทราบต่อไป

(4) คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ ราคา และปริมาณการจำหน่ายข้าวสารในโกดังกลางที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลและการจำหน่ายข้าวสารที่แปรสภาพจากข้าวเปลือกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลแบบใช้ส่วนต่างของราคาที่ผู้ประมูลยินดีจ่ายกับราคาข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Basis) ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อตลาดโดยรวม รวมทั้งกำกับดูแลแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ และให้คณะอนุกรรมการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธาน กขช.พิจารณาอนุมัติและรายงานผลการดำเนินงานต่อ กขช.ทราบต่อไป

(5) คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนงาน โครงการ และมาตรการด้านการผลิตและการตลาดข้าวของจังหวัดต่อ กขช. เสนอโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิต การตลาดข้าวต่ออนุ กขช.ด้านการผลิต หรืออนุ กขช.ด้านการตลาด แล้วแต่กรณี และเสนอแนะแนวทางในการช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและเกิดประโยชน์ต่อระบบการผลิต และการค้าข้าวของจังหวัด

(6) คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการประกันราคาและประกันภัยข้าวเปลือก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทาง และวิธีการดำเนินการประกันราคาและการประกันภัยข้าวเปลือกให้แก่เกษตรกร

(7) คณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารที่เก็บรักษาในโรงสี และโกดังกลางที่เข้าร่วมโครงการว่ามีประเภท ชนิด เป็นไปตามหลักเกณฑ์การรับจำนำและมีปริมาณถูกต้องครบถ้วน และคุณภาพเป็นไปตามบัญชีหรือไม่ และรายงานผลการดำเนินการให้ กขช.ทราบต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ