ขออนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย ปีบัญชี 2549 เพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกรให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 เพิ่มเติมอีกประมาณ 660.39 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้มีการชดเชยแก่ ธ.ก.ส. เป็นปี ๆ ไปตามข้อเท็จจริงภายใน 3 ปี สำหรับวงเงินที่จะขอชดเชยจากรัฐบาลในปีบัญชี 2549 วงเงินประมาณ 229.39 ล้านบาท ปีบัญชี 2550 วงเงินงบประมาณ 220 ล้านบาท และปีบัญชี 2551 วงเงินประมาณ 211 ล้านบาท และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว ธ.ก.ส. จะได้ประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ ธ.ก.ส. ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่เห็นควรสนับสนุนในอัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี โดยเป็นอัตราต้นทุนในการดำเนินงานรวมของ ธ.ก.ส. และเมื่อสิ้นสุดโครงการฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 เห็นสมควรให้ ธ.ก.ส. ประมวลผลความเสียหายตามโครงการฯ ทั้งการชดเชยดอกเบี้ยหนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัยและเงินกู้เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามที่เกิดขึ้นจริงพร้อมวงเงินที่จะขอชดเชยจากรัฐบาลเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ธ.ก.ส. ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมให้ ธ.ก.ส. อีก 660.39 ล้านบาท จากวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติไว้แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จำนวน 2,926.16 ล้านบาท เนื่องจากมีพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ขยายบริเวณและรุนแรงมากขึ้น ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 แล้ว ธ.ก.ส. จึงได้วางแผนในการสำรวจความเสียหายและตรวจสอบความถูกต้องของเกษตรกรลูกค้าเป็นรายคน พบว่าในปี 2550 มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 ทั้งสิ้น 161,023 ครัวเรือน หนี้เงินกู้รวม 18,310.46 ล้านบาท และรัฐบาลต้องชดเชยให้ ธ.ก.ส. รวม 3,586.55 ล้านบา ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 ดังนี้

1.1 กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตจะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

1.2 กรณีเกษตรกรลูกค้าไม่เสียชีวิตและประสบภัยอย่างร้ายแรงมี 2 กรณี คือ

1.2.1 หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย

(1) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี

(2) งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2549-2551 โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อนชั้นดีลบ 1 (MRR-1) ซึ่งขณะนั้นมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อปี

1.2.2 การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

(1) ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท

(2) ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี

(3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้า ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้

(ก) กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง

(ข) กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นรายละไม่เกิน 200,000 บาท

2. ขั้นตอนการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย ปี2549 ตามมาตรการข้างต้นมีดังนี้

2.1 สำรวจความเสียหายของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นรายคนหลังภัยสงบในเดือนมกราคม-มีนาคม 2550

2.2 รวบรวมและประมวลผลข้อมูลของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบความเสียหายครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน 2550

2.3 ขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 ในพื้นที่เพิ่มเติมอีก 11 จังหวัด ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2550

2.4 สุ่มสอบความถูกต้องของข้อมูลเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 และสรุปผลการตรวจสอบในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2550

2.5 ตรวจสอบทบทวนข้อมูลเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 เพื่อยืนยันความถูกต้องในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2550

2.6 รวบรวมและประมวลผลข้อมูลของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ปี 2549 ให้ถูกต้องครบถ้วนครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2550-มกราคม 2551

3. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย ธ.ก.ส. จะให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรลูกค้าที่ประสบอุทกภัยและได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยในปี 2549 มีเกษตรกรลูกค้าประสบอุทกภัยทั้งสิ้น 161,023 ครัวเรือน หนี้เงินกู้รวม 18,310.46 ล้านบาท รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส.ตามมาตรการตั้งแต่ปีบัญชี 2549-2551 เป็นเงิน 3,586.55 ล้านบาท จากการงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัยในข้อ 1.2.1 (2) เป็นเงิน 3,556.33 ล้านบาท และจากการลดดอกเบี้ยหนี้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังประสบภัยในข้อ 1.2.2 (2) เป็นเงิน 30.22 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. นั้น ได้รับภาระไว้เองรวมจำนวน 969.75 ล้านบาท จากการจำหน่ายหนี้สูญของเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิต 18 ราย เป็นเงิน 1.76 ล้านบาท และหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้เดิมที่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี เป็นเงิน 967.99 ล้านบาท

4. การที่ ธ.ก.ส. ขออนุมัติวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 660.39 ล้านบาท จากวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติไว้แล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จำนวน 2,926.16 ล้านบาท เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่ง ธ.ก.ส. ไม่สามารถประมวลผลได้ครบถ้วนในขณะอุทกภัยยังไม่สงบหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 และเพื่อให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2549 ทุกราย ธ.ก.ส. จึงต้องดำเนินการไปตามสภาพที่เป็นจริง

กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ