คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ครั้งที่ 1/2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเสนอ โดยสรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1. สถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือ
1.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สรุปสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 — 13 มีนาคม 2552 ดังนี้
(1) พื้นที่ประสบภัยแล้งจำนวน 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก น่าน พิจิตร แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พะเยา ลำพูน เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครพนม สกลนคร นครราชสีมา สุรินทร์ กาฬสินธุ์ เลย ยโสธร หนองคาย บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ตราด สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช และจังหวัดสตูล
(2) ความเสียหาย มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 1,128,619 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 367,138 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 96,036 ไร่ นาข้าว 179,136 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ
(3) การให้ความช่วยเหลือ ใช้รถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ สำหรับงบประมาณดำเนินการได้ใช้จ่ายไปแล้ว 262,951,235 บาท แยกเป็นงบทดรองราชการของจังหวัด (50 ล้านบาท) จำนวน 114,504,523 บาท งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 144,541,581 บาท และงบอื่น ๆ จำนวน 3,905,131 บาท
1.2 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบ 3 เรื่อง คือ
(1) สรุปสถานการณ์น้ำ อาทิ แหล่งกักเก็บน้ำซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง มีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 45,869 ล้าน ลบ.ม. และขนาดกลาง 367 แห่ง มีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 2,618 ล้าน ลบ.ม.
(2) สรุปสถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลัก โดยทั่วไปมีสภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ตามสภาวะของช่วงฤดูแล้ง ยกเว้นลำน้ำที่มีอยู่ท้ายเขื่อนขนาดใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ภาคตะวันออกและภาคใต้มีสภาพน้ำน้อยตามลำน้ำเป็นแห่ง ๆ
(3) การวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2551 — 2552 ณ วันที่ 1 ของพฤศจิกายน ของทุกปีจะทราบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการใช้วางแผนการจัดสรร น้ำไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง ทุกกิจกรรม ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนรวมทั้งสิ้น 59,641 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นน้ำใช้การ 36,128 ล้าน ลบ.ม. ใช้วางแผนการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งจำนวน 22,687 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,945 ล้าน ลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศน์และอื่น ๆ 4.991 ล้าน ลบ.ม. การเกษตร 15,499 ล้าน
1.3 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ รายงานให้ที่ประชุมทราบการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง 2552 เป็น 3 ส่วน ดังนี้
(1) สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน อาทิ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ๆ ในปี 2552 น้อยกว่าปี 2551 (น้อยกว่าแต่ไม่ขาดแคลนเพราะมีปริมาณเก็บกักมาก)
(2) การคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้ง ได้พิจารณาถึงสภาพความขาดแคลนน้ำและต้นทุนที่มีอยู่ รวมถึงการนำน้ำไปใช้ โดยกรมทรัพยากรน้ำได้พิจารณาจาก 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณฝนสะสมปี 2551 เทียบกับฝนเฉลี่ย 30 ปี (ร้อยละ 10) ฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึง ปัจจุบัน (ร้อยละ 20) ระดับน้ำในลำน้ำสายหลัก (ร้อยละ 20) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ (ร้อยละ 15) พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค-จุดจ่ายน้ำบาดาล (ร้อยละ 20) และพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในปี 2548 ถึง 2551 (ร้อยละ 15)
(3) มาตรการบรรเทาภัยแล้ง ปี 2552 อาทิ การกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังให้เหมาะกับปริมาณน้ำในอ่าง การเตรียมการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้ง
1.4 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รายงานให้ที่ประชุมทราบการเตรียมการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ส่วนกลาง ศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ ส่วนภูมิภาค จำนวน 12 แห่ง ทั่วประเทศ สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในปี 2552 มีการดำเนินโครงการจัดหาน้ำสะอาด ให้กับหมู่บ้านภัยแล้งทั่วประเทศ เตรียมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์และบุคลากร อาทิ ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาลพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลาง เพื่อจัดหาน้ำสะอาด ให้กับหมู่บ้านภัยแล้งทั่วประเทศ (878 หมู่บ้าน) และพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำเสริม สำหรับการเกษตร
2. แผนการดำเนินการ หลักเกณฑ์ และงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว ที่ประชุมมีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินการ หลักเกณฑ์ และงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เป็นเอกสารโดยให้แยกเป็นงบประมาณปกติที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง และงบกลางที่จะขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน และหน่วยงานไม่ได้เสนอขอตั้งงบประมาณไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และ 2553 และส่งให้ฝ่ายเลขานุการภายใน 1 สัปดาห์
3. การแต่งตั้งรองประธานและกรรมการใน คปล. เพิ่มเติม
เพื่อให้การดำเนินงานของ คปล. มีความรวดเร็วและเกิดการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพที่ประชุมได้มีมติให้มีการแต่งตั้งรองประธานและกรรมการเพิ่มเติม ดังนี้
3.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน
3.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธาน
3.3 อธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ
3.4 อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการ
3.5 อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ
3.6 ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นกรรมการ
4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จำนวน 2 คณะ ได้แก่
4.1 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมี ผู้อำนวยสำนักงบประมาณ เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธาน และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธาน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ ผู้แทนสำนักงบประมาณที่ได้รับมอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ได้รับมอบหมายจำนวน 2 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
4.2 คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมี หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีจังหวัดภัยแล้งอยู่ในเขตรับผิดชอบ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
5. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งปี 2551 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 2551 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ในวงเงิน 1,194,240,040 บาท เพื่อตั้งจ่ายที่กรมส่งเสริมการเกษตร 1,188,565,539 บาท กรมประมง 5,661,146 บาท และกรมปศุสัตว์ 13,335 บาท โดยจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--