รายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 16:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานการตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ดังนี้

1. สถานที่ตรวจสถานการณ์

1.1 พื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟ้ฟ้า คุยต้อ ต.ดินดำ บริเวณวัดบ้านคุยค้อ ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

(1) รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสรุปสถานการณ์ภัยแล้งปี 2552 โดยจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในพื้นที่จำนวน 3 ครั้ง ในพื้นที่ 11 อำเภอ 109 ตำบล 1,317 หมู่บ้าน 140,061 ครัวเรือน 540,142 คน ประกาศครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ในการนี้ได้จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว 60,000 ลิตร

(2) ปลัดอำเภอจังหารรายงานสภาพปัญหาของการประกอบอาชีพหลัก โดยการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งน้ำจะท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ในฤดูฝน และจะแล้งจัดในฤดูแล้ง จัดเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก อำเภอจังหารมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า แล้ว 4 แห่ง การส่งน้ำช่วยเหลือข้าวนาปรังไม่ทั่วถึงและประสงค์จะขอเพิ่มอีก 2 จุด สำหรับเกษตรกรทำนาปรัง โดยเกษตรกรยินยอมให้ใช้ที่ดินทำคลองส่งน้ำ

(3) กำนันตำบลดินดำรายงานสภาพปัญหาราษฎรในเขตพื้นที่โครงการปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่ แต่เนื่องจากคลองส่งน้ำก่อสร้างและใช้งานมานาน สภาพชำรุดเสียหายประสิทธิภาพการส่งน้ำต่ำ ประกอบกับราษฎรในหมู่บ้านใกล้เคียงมีความต้องการให้ขยายพื้นที่ส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เพิ่มเติมอีกเป็น 3,500 ไร่ โดย

ก. ปรับปรุงเพิ่มเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านดินดำ จำนวน 1 ชุด และก่อสร้างคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรเพิ่มเติมอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ไร่ งบประมาณปี 2553 จำนวน 5 ล้านบาท

ข. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านคุยค้อ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรอีก 2 หมู่บ้าน บ้านคุยค้อและบ้านจานทุ่ง พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังประมาณ 3,000 ไร่ งบประมาณ 20 ล้านบาท จังหวัดได้ขอตั้งงบประมาณกลุ่มจังหวัดปีงบประมาณ 2553

1.2 พื้นที่ตำบลดอนโอง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด พบปะเกษตรกรและหัวหน้าส่วนราชการ ณ โรงเรียนบ้านดอนโองท่าวารีวิทยา ตำบลดอนโอง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

(1) นายอำเภอโพธิ์ชัยรายงานสถานการณ์แล้งและสภาพปัญหาของราษฎรในพื้นที่ ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณปากปลาค้าวลงสู่แม่น้ำชี และราษฎรประสงค์ให้จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้ง โดย

ก. ปรับปรุงทางระบายน้ำอ่างเก็บน้ำปากปลาค้าว พร้อมขุดลอกเพิ่มความจุเก็บกักน้ำ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของตำบลดอนโอง งบประมาณ 20 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง

ข. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านคุยโพธิ์ สูบน้ำ จากแม่น้ำชีช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรประมาณ 2,500 ไร่ งบประมาณปี 2553 จำนวน 20 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ

2. สภาพทั่วไปและข้อมูลเบื้องต้น

2.1 พื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านดินดำ ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

  • ก่อสร้างในปี 2527
  • แหล่งน้ำต้นทุน ลำน้ำชี
  • พื้นที่ส่งน้ำของโครงการ 2,500 ไร่
  • เครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่งติดตั้งบนแพ จำนวน 1 เครื่อง
  • อัตราการสูบน้ำ 300 ลิตร/วินาที
  • คลองส่งน้ำ ยาว 12,692.90 เมตร

2.2 พื้นที่ตำบลดอนโอง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

เขตตำบลดอนโอง มีแหล่งน้ำธรรมชาติสายหลัก คือ ลำน้ำชี และห้วยปากปลาค้าว มีโครงการชลประทานที่พัฒนาแล้ว คือ อ่างเก็บน้ำปากปลาค้าว ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดเล็กก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2523 ความจุ 150,000 ลูกบาศก์เมตร ในปี 2552 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการปรับปรุงทางระบายน้ำและขุดลอกเพิ่มความจุเก็บกักน้ำ งบประมาณ 20 ล้านบาท

3. การเตรียมความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือ กรมชลประทานได้ส่งเครื่องสูบน้ำ เคลื่อนที่ให้จังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว 56 เครื่อง

4. ข้อคิดเห็นและข้อสั่งการของ รมว.กษ.

4.1 จากการรับฟังรายงานและตรวจสถานการณ์พบว่าทั้งสองพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากใน ฤดูฝนและแล้งซ้ำซากในฤดูแล้ง เป็นอุปสรรคต่อการทำนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำที่กำลังส่งไม่ถึงและนอกเขตชลประทาน และมีปัญหาศัตรูพืชในบางพื้นที่ รัฐบาลมีความห่วงใยและจะทำทุกวิถีทาง ที่ให้การเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ได้ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 39 จังหวัด จึงได้เดินทางมาติดตามให้ความช่วยเหลือ

4.2 การสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว จะพิจารณาสนับสนุนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ในส่วนที่โอนให้ท้องถิ่นไปแล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

4.3 เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เป็นภารกิจที่ส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถทำได้ทันที ดังนั้นเมื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นก็สามารถจะสนับสนุนได้ โดยให้กรมชลประทานจัดหาเครื่องสูบน้ำให้ตำบลดินดำอีก 3 เครื่อง รวมทั้งจัดสรรให้ตำบลดอนโอง และตำบลสะอาดตามความเหมาะสม

4.4 กรณีที่เกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืช หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาในทันที

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ