การให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ Japan Finance Corporation (JFC)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 16:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ Japan Finance Corporation (JFC)ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ Japan Finance Corporation (JFC) ปฏิบัติภารกิจในราชอาณาจักรไทยภายใต้ความตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ และเห็นชอบในหลักการร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JFC

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าว

กระทรวงการคลังรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาคงการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JFC ประจำสำนักงานในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JBIC ประจำประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับโครงสร้าง JBIC โดยงานในส่วนที่เกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ [International Financial Operations (IFOs)] จะรวมกับ 3 สถาบันการเงิน ได้แก่ National Life Finance Corporation Agriculture, Forestry and Fisheries Finance Corporation และ Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprise และตั้งเป็นองค์กรใหม่ที่ชื่อว่า Japan Finance Corporation (JFC) สำหรับงานในส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (Overseas Economic Cooperation Operations : OECOs) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ เงื่อนไขผ่อนปรนจะถูกโอนไปอยู่กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ที่ปัจจุบันรับผิดชอบการให้ความร่วมมือทางวิชาการ (Technical Cooperation) และการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Grant Aid)

เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ JFC ประจำสำนักงานในประเทศไทยให้สามารถปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการติดต่อประสานงาน สนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในภูมิภาค จึงเห็นสมควรที่รัฐบาลไทยจะคงการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JFC เช่นเดียวกับที่ให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JBIC ประจำประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการคงการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว และได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้สิทธิพิเศษ รวมทั้งไม่มีข้อขัดข้องในรายละเอียดของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 JBIC ในส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศ (IFOs) จะรวมองค์กรกับสถาบันการเงินอีก 3 แห่ง เพื่อจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินใหม่ชื่อ JFC ซึ่งจัดตั้งภายใต้กฎหมาย JFC ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550

2. สิทธิพิเศษและภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการกับ JBIC ในส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินระหว่างประเทศจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2551 จะถูกโอนไปอยู่ภายใต้การดำเนินการของ JFC ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งรวมถึงการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับสิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (OECF) และหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JBIC ประจำประเทศไทยในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

  • การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าของใช้ส่วนตัวและเครื่องใช้ในครัวเรือนในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งรถยนต์คนละ 1 คัน ภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากที่เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ทั้งนี้ การยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงอาวุธปืน กระสุนปืนและส่วนประกอบอื่น ๆ
  • การยกเว้นภาษีเงินได้จากครัวเรือน ค่าจ้างหรือเงินตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย สำหรับหัวหน้าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ JBIC
  • การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าอุปกรณ์สำนักงานในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งการ
นำเข้ารถยนต์สำนักงานจำนวน 1 คัน

3. รัฐบาลทั้งสองจะหารือกันเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการภายใต้หนังสือแลกเปลี่ยนฉบับนี้

JFC เป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นทำหน้าที่เช่นเดียวกับ JBIC ในส่วนที่รับผิดชอบงานการเงินระหว่างประเทศ และจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นในการประสานความร่วมมือและการลงทุนร่วมกันของสองประเทศในอุตสาหกรรมสาขา ต่าง ๆ ทั้งเพื่อลงทุนในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น JFC จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทที่ชัดเจนในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเป็นวิสาหกิจส่วนใหญ่และเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากของประเทศ ความช่วยเหลือทางการเงินและความร่วมมือจาก JFC จะมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และส่งเสริมการจ้างงานในประเทศไทย ทั้งนี้ สำนักงาน JFC ในประเทศไทยจะส่งเสริมให้การดำเนินงานและการสนับสนุนการนำเข้า การส่งออก และการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการประสานงานในระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงเห็นควรที่รัฐบาลไทยจะคงการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ JFC ตามที่เคยให้ไว้กับ JBIC กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ