การเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอรัฐสภาอนุมัติการลงนามความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2009 16:56 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอรัฐสภาอนุมัติการลงนามความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจ

และการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติการลงนามในความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และให้ส่งความตกลงในเรื่องนี้ ไปเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

2. เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในความตกลงฯ ขอให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ แทนคณะรัฐมนตรีได้ และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ในการลงนามในความตกลงฯ ให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนาม โดยให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้ เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบความตกลงฯ ตามข้อ 1 แล้ว

กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า

1. ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment, and Economic Cooperation-JC) ครั้งที่ 1 ซึ่งมีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานการประชุมร่วมกับมาดามอู๋อี๋ รองนายกรัฐมนตรีจีน มีมติให้ทั้งสองฝ่ายจัดทำ Strategic Framework for Sino-Thai Economic Cooperation เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

2. กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ของจีนและเห็นควรจัดทำความตกลงการขยายความตกลงการขยายความร่วมมือทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงกว้างและเชิงลึกระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Agreement on Expanding and Deepening Bilateral Economic and Trade Cooperation : EDBETC) ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ Strategic Framework for Sino-Thai Economic Cooperation ซึ่งผู้แทนไทยกับจีนได้สรุปผลการเจรจาร่างความตกลงได้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552

3. กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ความตกลงฯ ฉบับนี้จะเป็นช่องทางสำคัญที่เปิดโอกาสให้ไทยสามารถหยิบยกปัญหาการค้าทวิภาคีหารือกับฝ่ายจีน พร้อมทั้งติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในเดือนเมษายน 2552 ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับจีน ไทยในฐานะประธานอาเซียนควรคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีและรักษาบทบาทผู้นำอาเซียนและความมั่นใจแก่นักธุรกิจจีน จึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขยายการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เช่น การแจ้งนโยบายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือปัญหาที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนทวิภาคี เป็นต้น

2. ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน

3. ศึกษาลู่ทางและจัดให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในสาขาต่าง ๆ เช่น การเกษตร การผลิต พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ เป็นต้น

4. จัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส

5. พัฒนาด้านโลจิสติกส์การค้าภายในอาณาเขตของทั้งสองฝ่ายและพื้นที่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)

6. ส่งเสริมการใช้สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในด้านการพาณิชย์และทั่วไป รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา

7. อำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น การขอวีซ่า ซึ่งเป็นไปตามกฎระเบียบภายในของภาคี

8. จัดทำแผนพัฒนาระยะ 5 ปี สำหรับสาขาความร่วมมือที่ระบุในความตกลง

ทั้งนี้ ความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลาอีก 5 ปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 มีนาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ